สยามฟิชชิ่ง
หน้าแรก|กระดาน|รีวิว|ประมูล|ตลาด|เปิดท้าย
login | สมัครสมาชิก | วิธีสมัครสมาชิก | ลืมชื่อ/รหัส | login ไม่ได้? | 28 เม.ย. 67
ชายเฒ่ากลางทะเลลึก <เออร์เน็สต์ เฮ็มมิงเวย์ > : Fishing Book
 ห้องรีวิวหนังสือ
ความเห็น: 22 - [1 เม.ย. 51, 18:30] ดู: 17,343 - [27 เม.ย. 67, 13:10] โหวต: 4
ชายเฒ่ากลางทะเลลึก <เออร์เน็สต์ เฮ็มมิงเวย์ >
ผิวไผ่ (204 คะแนนโหวตจากผู้ชมกระทู้) offline
3 ต.ค. 46, 08:52
1
หนังสือ ชายเฒ่ากลางทะเลลึก (The old man and the sea)
ผู้แต่ง  เออร์เนสต์ เฮมมิ่งเวย์ เขียน อาษา ขอจิตต์เมตต์ แปล 
ผู้พิมพ์ สำนักพิมพ์แสงดาว
บันทึก  ตาเฒ่าซานติอาโก เคยมีฝีมือในการล่าปลา ในวันที่แกแก่ตัวลง อยู่คนเดียวโดดเดี่ยว แกถูกปรามาศจากประมงหนุ่มว่า แกจะน้ำยาในการล่าปลาใหญ่หรือไม่ ท่ามกลางความท้อแท้ สิ้นหวัง กระทั่งความยากจนแห่งชีวิต ในที่สุด ตาเฒ่าก็ออกเรือไปกลางทะเลลึก เพื่อเผชิญกับมาร์ลีนยักษ์... หนึ่งคน หนึ่งปลา ชีวิตแสวงหา สุดท้ายแล้ว......




ที่จริงผมไม่น่าจะต้องกล่าวถึงหนังสือเล่มนี้มากเท่าไรนัก เพราะคิดว่า มันคงอยู่ในหัวใจของนักอ่านประเภทใช้ชีวิตกลางแจ้งแทบทุกคน เป็นเรื่องของตาเฒ่าซานติอาโกที่อาจหาญออกไปล่าปลากลางทะเลลึก ทั้งๆที่ตัวแกก็เป็นไม้ใกล้ฝั่งเต็มทีแล้ว เรื่องนี้ได้รับการกล่าวถึงไม่เฉพาะกับคนตกปลาเท่านั้น แต่คนทั่วๆไปที่ไม่ใช่คนตกปลาก็น่าจะชอบ เพราะในความหมายที่ตาเฒ่าออกไปกลางทะเลลึก มันไม่ใช่แค่หาปลาเท่านั้น แต่มันหมายถึงชีวิต ชีวิตที่โดดเดี่ยว

หนังสือเล่มนี้ จะเป็นปรัชญาแห่งชีวิตให้คนพ่ายแพ้ ให้ทุกคนเลยก็ว่าได้ ถ้าหากใครเคยดูหนังเรื่อง Cast Away แล้วก็คงจะเข้าใจ.. ในวันที่หนักหนา เหงา และอ่อนล้า แต่ตราบใดที่ยังมีลมหายใจ ขออย่ายอมแพ้

ภาษาไทย แปลโดย อาษา ขอจิตต์เมตต์ นักแปลอีกท่านหนึ่งที่มีผลงานแปลออกมามาก งานแปลหลายประเภท ถ้าหากเป็นชื่อ อาษา ขอจิตต์เมตต์  ผมว่าใช้ได้เลยนะครับ ไม่ว่าจะเป็นนิยายพวกคาวบอย หรือสารคดี


อ่านเรื่องนี้แล้วอาจจะนึกถึงเพลง "เฒ่าทะเล" ของคาราบาวนะครับ เฒ่าอ่ำลูกเลเมืองใต้ พำนักอาศัยอยู่ชายฝั่งทะเล ทำอาชีพชาวประมง วันฝนฟ้าคะนองแกก็ออกจากฝั่งไป แล้วก็ไม่หวนคืนมาอีก

แต่ตาเฒ่าซานติอาโก ไม่ได้ต้องการตอบสนองปากท้องของตัวเองเท่านั้น แกอาจจะรู้สึกแก่ และสิ้นหวัง แล้วก็เกิดความรู้สึกว่า ต้องการพิสูจน์ตัวเองว่า ที่จริงข้าไม่ได้แก่ หรือถึงข้าจะแก่ก็ยังมีน้ำยาว่ะ

เรื่องนี้ได้รับรางวัลโนเบล (ถ้าผมจำไม่ผิด) หลายๆคนรู้จักกันในชื่อ ดิ โอลด์ แมน แอนด์ เดอะ ซี  ดังขนาดต้องมีการทำภาพยนต์ออกมา

หนังสือค่อนข้างจะแฝงเร้นไว้ด้วยแนวปรัชญานิดๆ แต่ก็เป็นการฉายให้เห็นถึงความเปลี่ยวเหงา ความรู้สึกว่าไร้คุณค่า หรือกระทั่งอ่อนล้าสิ้นแรงของคนแก่ๆคนหนึ่ง..

แต่เมื่อตาเฒ่าซานติอาโก ออกสู่ทะเล..

"ที่จริงแล้วฉันทำได้" เฒ่าซานติอาโก พยายามบอกว่าฉันแกร่งและแข็งแรงพอสำหรับแก--ปลา ฉันยอดเยี่ยมเท่าหรือบางครั้งดีกว่า "แต่มนุษย์ไม่ได้ถูกสร้างมาให้แพ้ เขาพูด "มนุษย์ถูกทำลายได้แต่แพ้ไม่ได้"

"อย่าคิดมากเลย ตาเฒ่า เขาพูดดังๆ แล่นใบไปตามทางนี้ต่อไป ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นก็รับมือกับมัน"

บัญชร ชวาลศิลป์ นักตกปลาอีกคนหนึ่งที่มีผลงานเขียนถึง 3 เล่ม ได้เขียนถึง The Old Man and the sea ในหนังสือ "ระบำดอกฝนที่ระนอง" ของเขาว่า

"วันแล้ววันเล่า คืนแล้วคืนเล่าที่เฒ่าทะเล ซานดิอาโก ต่อสู้กับมาร์ลินยักษ์ใน The Old man and the sea ใช่หรือไม่นั่นคือภาพสะท้อนอของสัญลักษณ์ที่ชัดเจนแห่งชีวิตโดดเดี่ยว ตัวต่อตัว ไม่มีมือของผู้ใดจะยื่นช่วย ถึงที่สุดแล้วทุกคนล้วนต้องต่อสู้ขับเคี่ยวกับชะตากรรมแห่งตนเองตามลำพังทั้งสิ้น สำนึกได้เช่นนี้ ผู้คนจึงมีแต่ต้องเคารพและเชื่อมั่นในตัวเอง

แต่ลึกลงไปในความอหังการแห่งมนุษยชาติ แท้จริงแล้วมนุษย์กลับเป็นสัตว์โลกที่อ่อนแอที่สุด กระทั่งเขี้ยวเล็บก็ไม่มีไว้ป้องกันอันตราย เช่นนั้น ในความโดดเดี่ยว มนุษย์จึงมีความว้าเหว่และเฝ้าไขว่คว้าหาที่พึ่ง บ่อยครั้งถึงกับลืมความเคารพ ลืมความเชื่อมั่นในตัวเอง ฝากชีวิตไว้กับสิ่งอื่น ผู้อื่น.."
กรุณา ลงทะเบียน และ login ก่อนส่งความเห็นครับ
siamfishing.com © 2024