สยามฟิชชิ่ง
หน้าแรก|กระดาน|รีวิว|ประมูล|ตลาด|เปิดท้าย
login | สมัครสมาชิก | วิธีสมัครสมาชิก | ลืมชื่อ/รหัส | login ไม่ได้? | 19 มี.ค. 67
ซั้ง VS ปะการังเทียม : Fishing Article
 ห้องบทความ/เทคนิค > บทความตกปลา
ความเห็น: 5 - [1 ม.ค. 53, 15:03] ดู: 9,655 - [18 มี.ค. 67, 23:58] โหวต: 3
ซั้ง VS ปะการังเทียม
วันชัย แจ้งอัมพร
14 ม.ค. 46, 20:43
1
การอนุรักษ์ธรรมชาติทางทะเล โดยเฉพาะกับพันธุ์สัตว์น้ำต่างๆ นั้นทำได้หลายวิธีด้วยกัน ทางด้านของวงการตกปลา ให้ความสำคัญกับงานอนุรักษ์ธรรมชาติค่อนข้างมาก จะเห็นได้ว่าโครงการอนุรักษ์พันธุ์ปลานานาชนิด เกิดจากวงการตกปลามากกว่าวงการอื่นใดทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น การตกปลาแล้วปล่อย (Catch & Release) การติดเครื่องหมายบนตัวปลา (Tag & Releases) การกำหนดมาตรการในการตกปลา เช่น ฤดูที่ปลาวางไข่, ขนาด และปริมาณของปลา, ชนิดของปลาบางประเภท เป็นต้น นอกจากนี้ ซั้ง และปะการังเทียม ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์ ที่วงการตกปลาดำเนินการมาโดยตลอด ในบ้านเราเองรู้จักกับการวางซั้ง และปะการังเทียมมานานพอสมควร ปัจจุบันหลายต่อหลายฝ่ายก็ให้ความสำคัญมากขึ้น

ปะการังเทียม  มีชื่อเรียกเป็นทางการในภาษาอังกฤษว่า  อิมมิเตชั่น รีฟ (Imitation Reef)  ความหมายของมันก็คือ กองหินเทียมที่ใต้น้ำ เป็นการเลียนแบบ โขดหิน หรือหินกองใต้น้ำ ซึ่งนักตกปลาทางทะเลจะรู้จักกันดี แต่ในบ้านเราใช้คำว่า ปะการังเทียม กันจนคุ้นเคยเสียแล้ว ก็คงต้องเรียกเช่นนั้นตามไปด้วย โขดหิน หรือหินกองใต้น้ำ และแนวปะการัง เป็นแหล่งอาศัยของพันธุ์สัตว์น้ำนานาชนิด ซึ่งเปรียบเสมือนที่อยู่อาศัยหากินของพวกมันนั่นเอง แต่สิ่งดังกล่าวนั้นไม่ได้มีอยู่ทั่วไปในท้องทะเล จึงมีการ สร้าง บ้านใหม่ให้พวกมันได้อยู่อาศัย เพื่อเป็นการเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำในบริเวณที่ต้องการ มีสิ่งที่นักตกปลารู้กันดีอย่างหนึ่งก็คือ บริเวณที่เป็นซากเรือจม จะมีปลาอยู่ชุกชม จึงมีการเลียนแบบซากเรือจม โดยใช้วัสดุเหลือใช้ หรือไม่ได้ใช้แล้ว เช่น เรือ, รถไฟ, เครื่องบิน, รถยนต์, แท่งคอนกรีต และอีกหลายสิ่งหลายอย่าง นำไปทิ้งลงในบริเวณที่กำหนด เพื่อให้ปลาได้เข้ามาอยู่อาศัย แต่ในบางท้องถิ่นไม่ได้มีสิ่งของดังกล่าวเสมอไป จึงต้องหาวัสดุอื่นมาทดแทน เช่น ยางรถยนต์ที่ไม่ใช้แล้ว เนื่องจากมีปริมาณเหลือใช้ค่อนข้างมาก จึงมีการนำมามัดรวมกันเป็นชุดๆ ชาวประมงท้องถิ่นสามารถทำได้เองในราคาที่ค่อนข้างถูก ส่วนทางภาครัฐ คือกรมประมง ก็มีโครงการทำปะการังทียม โดยการหล่อคอนกรีต เป็นก้อนสี่เหลี่ยมโปร่ง นำไปทิ้งตามจุดที่กำหนดในแต่ละครั้งเป็นจำนวนมาก ซึ่งค่อนข้างได้ผลเช่นเดียวกับหินกองใต้น้ำตามธรรมชาติ

ปะการังเทียมเป็นการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำโดยรวม มีสัตว์น้ำนานาชนิดอาศัยอยู่รวมกัน ทั้งกุ้ง,หอย, ปู และปลาหลายชนิดที่เป็นปลาประจำถิ่น เช่น กลุ่มปลากะพงหลายชนิด, ปลาเก๋า และปลาในแนวปะการังทั่วไป ถ้าจะพูดถึงกิจกรรมการตกปลากันแล้ว แนวปะการังเทียมนั้นตกปลาได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากปลาจะอาศัยอยู่ ตามซอกโพรงของกองหินเทียม ซึ่งเป็นอุปสรรคที่สำคัญมากต่อสายเบ็ดตกปลา ประกอบกับในแนวปะการังเทียม มีปลาเกมที่นักตกปลาต้องการอยู่น้อยชนิด แต่ปะการังเทียมจะให้ประโยชน์กับ ชาวประมงพื้นบ้านในแนวน้ำตื้นค่อนข้างมาก ในด้านที่ช่วยเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำ ในบริเวณที่มีปลาอาศัยอยู่น้อย หรือไม่เคยมีปลามาก่อน

ซั้ง  มีชื่อเรียกในภาษาอังกฤษว่า ฟิช แอกกรีเกทติ้ง ดีไวซ์ (Fish Aggregating Device) เรียกกันย่อๆ ว่า แฟ้ดส์ (FADs) หมายถึง อุปกรณ์ที่ทำให้ปลามาอยู่รวมกัน ซึ่งมีที่มาจากสิ่งของลอยน้ำต่างๆ โดยมีปลาเล็กปลาน้อยอาศัยร่มเงาอยู่ และจะมีปลาขนาดใหญ่กว่าติดตามหาอาหารไปด้วย การวางซั้งก็จะเลียนแบบสิ่งของลอยน้ำ โดยใช้วัสดุต่างๆ มาผูกมัดรวมกัน เช่น เศษอวน, เชือกเก่า, ไม้ไผ่ และทางมะพร้าว เหล่านี้เป็นต้น เพียงแต่ซั้งจะถ่วงด้วยก้อนหิน หรือผูกติดกับโขดหินใต้น้ำ ไม่ให้ลอยออกไปจากจุดที่ต้องการ ซั้ง อาจจะมีส่วนของการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำได้น้อยกว่า ปะการังเทียม แต่ซั้งจะเป็นประโยชน์อย่างมากกับกิจกรรมของการตกปลา และอุตสาหกรรมอาหารทะเล โดยเฉพาะกับการทำปลากระป๋อง ซึ่งเขาจะลงทุนทำซั้งเป็นจำวนมากกลางทะเล เพื่อให้ปลาเล็กเข้าอยู่อาศัย เช่น ปลากุแร, ปลาทูแขก, ปลาสีกุน เป็นต้น แล้วก็จะจับปลาเหล่านั้นส่งโรงงานได้คราวละมากๆ  ปลาเล็กดังกล่าวเป็นอาหารของปลาที่ใหญ่กว่า เช่น ปลาอินทรี, สาก, อีโต้มอญ, กะโทงแทง, กะโทงร่ม เป็นต้น จึงทำให้ซั้งเป็นประโยชน์ต่อวงการตกปลามากกว่าปะการังเทียม

ซั้ง เป็นการลงทุนที่ค่อนข้างถูก และทำงานง่าย แต่จะไม่อยู่ถาวรเหมือนปะการังเทียม ต้องมีการทำเพิ่มเติมอยู่เสมอ การวางปะการังเทียมต้องลงทุนสูงกว่า , การขนส่งที่ค่อนข้างลำบาก และอาศัยแรงงานมาก รวมทั้งต้องขอความร่วมมือ และอาจต้องขออนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมประมง และกรมเจ้าท่าในกรณีไปกีดขวางการจราจรทางน้ำ แต่ซั้งไม่ได้ใช้วัสดุถาวร จึงไม่ค่อยมีปัญหาในด้านนี้เท่าใดนัก

โดยสรุปแล้ว ปะการังเทียมจะให้ประโยชน์ทางด้านอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับชาวประมงพื้นบ้านได้มาก แต่ซั้งจะให้ประโยชน์กับกิจกรรม ของการตกปลาโดยตรงเสียมากกว่า จะอย่างไรก็ตามในปัจจุบันนี้ มีการวางซั้ง และแนวปะการังเทียมไปพร้อมๆ กัน จึงเกิดประโยชน์ทั้งอาชีพของชาวประมงพื้นบ้าน และกับวงการตกปลาด้วยเช่นกัน

*ขอขอบคุณ คุณวันชัย แจ้งอัมพร ที่ได้อนุญาติให้นำบทความชิ้นนี้มาลงเว็บไซต์ - webmaster
กรุณา ลงทะเบียน และ login ก่อนส่งความเห็นครับ
siamfishing.com © 2024