สยามฟิชชิ่ง
หน้าแรก|กระดาน|รีวิว|ประมูล|ตลาด|เปิดท้าย
login | สมัครสมาชิก | วิธีสมัครสมาชิก | ลืมชื่อ/รหัส | login ไม่ได้? | 28 เม.ย. 67
ไม่แปลกเลยไทยอยู่ที่แปด : Fishing Article
 ห้องบทความ/เทคนิค > บทความอื่นๆ
ความเห็น: 26 - [16 ก.ย. 56, 17:48] ดู: 4,323 - [27 เม.ย. 67, 23:30] ติดตาม: 1 โหวต: 4
ไม่แปลกเลยไทยอยู่ที่แปด
yodlove (194 คะแนนโหวตจากผู้ชมกระทู้) offline
14 ก.ย. 56, 20:16
1
ไม่แปลกเลยไทยอยู่ที่แปด
ภาพที่ 1
จากข้อมูลการประชุมของสภาเศรษฐกิจโลกคือ รายงานความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆ ทั่วโลก พ.ศ. 2555-2556 (The Global Competitiveness Report 2012-2013) ได้จัดอันดับคุณภาพการศึกษาของประเทศไทยในกลุ่มอาเซียน อยู่ในกลุ่มสุดท้ายอันดับที่ 8 เป็นกลุ่มที่มีคะแนนต่ำที่สุด

สำหรับอันดับที่จัดเรียงจากสูงไปหาต่ำมีดังนี้คือ

1.สิงคโปร์ 2.มาเลเซีย 3.บรูไน 4.ฟิลิปปินส์ 5.อินโดนีเซีย 6.กัมพูชา 7.เวียดนาม 8.ไทย ส่วนลาวกับพม่าไม่ได้รวมเข้ามาด้วยเนื่องจากถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด (Least developed country)

ความจริงก็ไม่เห็นน่าจะแปลกใจหรือตกใจอะไรกันเลยเนื่องจากคุณภาพการศึกษาของไทยเราโดยรวมแล้วก็เห็นได้ชัดแจ้งอยู่ทุกวันว่าต่ำมากจนไม่น่าเชื่อ ยกตัวอย่างเรื่อง "ภาษาอังกฤษ" ที่เด็กไทยเรียนกันมาทั้งระดับประถมและมัธยม 12 ปี มาต่อปริญญาตรีอีก 4 ปี รวมเป็น 16 ปี แต่คนไทยที่เรียนภาษาอังกฤษมา 16 ปีนั้นส่วนใหญ่ ประมาณ 90% ใช้ภาษาอังกฤษไม่ได้เลย แต่กระทรวงศึกษาธิการไม่เคยออกมารับผิดชอบเลย ทั้งๆ ที่การเรียนภาษาอังกฤษนั้นหากเรียนกันจริงๆ แล้ว แค่ 6 เดือนก็น่าจะเห็นหน้าเห็นหลังกันแล้ว

ครับ ! หลักสูตรการเรียนการสอนภาษาอังกฤษของกระทรวงศึกษาธิการที่มุ่งเน้นเฉพาะไวยากรณ์อังกฤษไม่เคยถูกเปลี่ยนแปลงเลย นอกจากนี้วัฒนธรรมของการล้อเลียนของพวกนักเรียนที่ขี้เกียจไม่ใส่ใจในการเรียนรู้ภาษาอังกฤษที่บั่นทอนความตั้งใจของนักเรียนที่ปรารถนาที่จะเรียนภาษาอังกฤษให้ใช้การได้จริงก็เป็นปัญหาที่เรื้อรังที่ครูและโรงเรียนจำเป็นต้องจัดการให้เด็ดขาดเพราะการล้อเลียนเสียๆ หายๆ ของเพื่อนร่วมชั้นต่อเด็กและนักศึกษาที่ตั้งใจในการเรียนภาษาอังกฤษเป็นสาเหตุของการละ เลิกเรียนภาษาอังกฤษที่ใหญ่มากประการหนึ่ง

โปรดอย่าลืมนะครับที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงปฏิรูปการศึกษาของไทยทั้งระบบตั้งแต่ พ.ศ. 2535 โดยยกเอาหลักสูตรการศึกษาของอังกฤษมาใช้ในเมืองไทย ดังนั้นศัพท์แสงต่างๆ ทางวิชาการของไทยจึงมักเป็นภาษาอังกฤษแทบทั้งสิ้น ต่อมาภายหลังครูอาจารย์ไทยได้รับทุนการช่วยเหลือจากรัฐบาลอเมริกันให้ไปศึกษาที่สหรัฐอเมริกาเป็นจำนวนมากทำให้อิทธิพลทางการศึกษาแบบอเมริกันแพร่หลายในเมืองไทยในปัจจุบัน เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วการที่ไม่รู้ภาษาอังกฤษของครูและนักเรียนไทยจึงมีข้อจำกัดอย่างมากเพราะทั้งครูและนักเรียนก็จะไม่สามารถเรียนรู้อะไรได้เลยนอกจากฟังคำบรรยายและท่องจำจากชีท (ข้อความย่อจากตำรา) ที่มีเนื้อหาความรู้น้อยมากเพราะเวลาบรรยายในชั้นเรียนมีอยู่จำกัด

หากกระทรวงศึกษาธิการจะไม่ยอมเปลี่ยนแปลงวิธีการเรียนการสอนภาษาอังกฤษก็ควรตั้งหน่วยงานระดับกระทรวงแปลหนังสือสรรพวิทยาการจากภาษาอังกฤษเหมือนอย่างประเทศญี่ปุ่นที่ทำมาตั้งแต่สมัยเมจิจะได้ไม่ต้องเรียนไม่ต้องสอนภาษาอังกฤษก็ได้

นอกจากนี้ก็ต้องยอมให้เด็กคิดเอง ทำเองบ้างและกระตุ้นความอยากรู้ อยากเรียนรวมทั้งสอนให้อ่านหนังสือเป็นด้วยไม่ใช่แต่ใช้พาวเวอร์พ้อยท์ (PowerPoint) และอ่านจากตำราให้เด็กจดไปท่องจำเท่านั้น สำหรับโรงเรียนและมหาวิทยาลัยต้องเลิกเห็นแก่เงินทองกำไร งบประมาณ ระบบระเบียบราชการ เกณฑ์การวัดผลที่บังคับลงมาด้วยอำนาจราชการกันบ้าง

ครับ ! เขียนเสร็จแล้วก็หมดหวังละครับสำหรับการศึกษาไทยเพราะไม่รู้ว่าการทุจริตสอบเข้ามาเป็นข้าราชการครูของไทยเริ่มตั้งแต่ปีไหน ?

(ที่มา:มติชนรายวัน 11 ก.ย.2556)
กรุณา ลงทะเบียน และ login ก่อนส่งความเห็นครับ
siamfishing.com © 2024