สยามฟิชชิ่ง
หน้าแรก|กระดาน|รีวิว|ประมูล|ตลาด|เปิดท้าย
login | สมัครสมาชิก | วิธีสมัครสมาชิก | ลืมชื่อ/รหัส | login ไม่ได้? | 27 เม.ย. 67
เบ็ดขูดปลาหลด : หากินในดินโคลน : Fishing Article
 ห้องบทความ/เทคนิค > บทความตกปลา
ความเห็น: 5 - [18 เม.ย. 48, 23:30] ดู: 13,990 - [27 เม.ย. 67, 10:33] โหวต: 1
เบ็ดขูดปลาหลด : หากินในดินโคลน
pinto2 (230 คะแนนโหวตจากผู้ชมกระทู้) offline
14 เม.ย. 48, 22:00
1

เบ็ดขูดปลาหลด : หากินในดินโคลน

เบ็ดขูดปลาหลด เป็นเครื่องมือที่ใช้จับปลาหลดโดยเฉพาะ ใช้เบ็ดเป็นอุปกรณ์หลักในการทำงาน แต่ไม่ได้ใช้เบ็ดโดยวิธีตกปลาหรือใช้เหยื่อเกี่ยวเบ็ดเพื่อให้ปลามาติดเบ็ด แต่ต้องจับด้ามเบ็ดนี้ไว้ขูดไปตามเลนดิน ปลาหลดจะติดมากับส่วนโค้งของตัวเบ็ด เครื่องมือนี้ใช้เบ็ดเป็นหลักก็จริง แต่ใช้โดยการขูด จึงเรียกว่าเบ็ดขูดปลาหลด

ปลาหลดมีลำตัวเรียวยาว ขนาดตัวยาวประมาณ ๑๕ เซนติเมตร ชอบหมกตัวอยู่ตามโคลนเลนลึกๆ ซ่อนตัวตามที่มืด ใช้จะงอยปากโผล่เหนือผิวโคลนเพื่อหายใจ หากินกลางคืน เวลาที่จับปลาหลดได้ผลดีคือเวลากลางวัน ที่ปลาหลดจะหมกตัวตามโคลนเลนนั่นเอง

การจับปลาหลดอย่างได้ผลต้องจับหน้าแล้ง เพราะน้ำลดแห้งลงมาก ปลาใหญ่ๆ จะไปรวมกันตามน้ำลึก ส่วนปลาหลดจะหมกโคลนตามชายคลอง ชายทุ่ง ชายบึง ผู้คนนิยมใช้เครื่องมือที่เป็นขออย่างโอกรีดปลาหลด หรือเบ็ดขูดปลาหลดได้ปลาหลดจำนวนมาก เพราะปลาหลดฝูงหนึ่งๆ เป็นฝูงใหญ่ มีน้ำหนักรวมกันหลายสิบกิโลกรัม

ปลาหลดถูกจับในอีกสถานการณ์หนึ่ง คือเมื่อชาวบ้านวิดน้ำ ปลาอื่นๆ ถูกจับโดยการทอดแหลากอวน แต่เครื่องมือพวกนี้จับปลาหลดไม่ได้ดี เพราะปลาหลดมุดใต้โคลนเลน มุดไปทั่วและเคลื่อนไหวเร็วมาก ยิ่งไปกว่านั้นปลาหลดก็ไม่กินเบ็ด เพราะมีปากเล็กมาก มีบ้างที่ปลาหลดไหลมาตามน้ำ ติดลอบในหน้าฝน แต่ก็เป็นส่วนน้อย การจับปลาหลดซึ่งมีธรรมชาติเฉพาะ ในสภาพแวดล้อมจำเพาะ จึงต้องใช้เครื่องมือที่คิดประดิษฐ์เพื่อจับปลาหลดโดยตรง เครื่องมือจึงมีชื่อเรียกเพื่อระบุหน้าที่ที่จับเฉพาะปลาหลด อย่างโอกรีดปลาหลดหรือเบ็ดขูดปลาหลด เป็นต้น

เบ็ดขูดปลาหลด ทำง่าย ใช้ง่าย น้ำหนักเบา เหมาะมือ ใช้วัสดุใกล้ตัว ได้แก่ เบ็ด เชือกเส้นเล็ก ไม้ไผ่เหลายาวประมาณ ๔๐ เซนติเมตร ทำเป็นด้ามจับ

วิธีทำ วิธีใช้งาน มัดเบ็ดกับปลายไม้ด้านหนึ่งให้แน่น ปลายอีกด้านที่เป็นด้ามจับใช้มีดบากหยักเพื่อมัดเชือกเส้นเล็กที่มีความยาวประมาณ ๕๐ เซนติเมตร หรือมีความยาวพอเหมาะกับการมัดข้อมือขณะใช้งาน เมื่อจะใช้งานผู้ใช้ใช้มือจับส่วนที่เป็นด้ามจับไว้แล้วจับเชือกมัดพันข้อมือ นำเบ็ดไปขูดตามเลนดินที่มีปลาหลดอาศัยอยู่ สังเกตจากปากหรือจะงอยแหลมๆ ที่โผล่ตามโคลนเลน เมื่อขูดปลาติดแล้วต้องปล่อยมือจากด้ามจับให้เหลือเพียงเชือกที่มัดหรือคล้องข้อมือไว้เท่านั้น รอให้ปลาดิ้นอ่อนแรงแล้วจึงคว้าด้ามเบ็ดขึ้นมาถือ เพราะหากถือคันเบ็ดช่วงที่ปลาดิ้นจะทำให้ปลาหลดบิดตัวหลุดจากเบ็ดได้

เมื่อจับปลาหลดได้ ชาวบ้านจะใช้หมาดซึ่งเป็นเหล็กซี่เล็กๆ ปลายแหลม ยาวประมาณ ๒๐ เซนติเมตร ที่โคนมีห่วงร้อยด้ายเหนียวไว้ร้อยเหงือกปลาหลดให้เป็นพวง แล้วเสียบหมาดไว้ที่เอว

ปลาหลดมีเมือกลื่นๆ คล้ายปลาไหล ลำตัวเรียวยาว อยู่ตามโคลน คล้ายปลาไหล ชาวบ้านจึงมีคำกล่าวถึงปลาทั้งสองประเภทนี้ว่า "ลื่นเป็นปลาไหล ไวเป็นปลาหลด" การใช้เบ็ดขูดปลาหลดจึงต้องขูดเร็วๆ ยกดูบ่อยๆ เงี่ยงเบ็ดก็มีส่วนช่วยเกี่ยวปลาไว้ ไม่อย่างนั้นปลาหลดจะลื่นหลุดได้ ความลื่นของปลาหลดกำจัดออกด้วยขี้เถ้า แกลบ หรือใบมะเดื่อ เช่นเดียวกับการกำจัดเมือกปลาไหล บ้างก็ล้างด้วยสารส้ม หรือเคล้าเกลือ นิยมนำไปย่าง

เนื้อปลาหลดเป็นเนื้อเส้น หวาน ไม่เละ กลิ่นเหมือนขี้โคลน เนื้อแน่น เก็บปลาหลดย่างได้นานกว่าปลาสร้อย ใส่แกงเผ็ด แกงเลียง ต้มยำข่า เนื้อแตกมันอร่อย

เบ็ดขูดปลาหลดมีทั้งที่ใช้เบ็ดตัวเดียว ๒ ตัวคู่ หรือ ๓ ตัว และยังมีเครื่องมืออีกหลายชนิดที่ใช้จับปลาหลดเป็นการเฉพาะ ตามโคลนตมจึงเป็นแหล่งอาหารที่ชาวบ้านรู้ว่ามีของดีรออยู่


จาก พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี จังหวัดพิษณุโลก
กรุณา ลงทะเบียน และ login ก่อนส่งความเห็นครับ
siamfishing.com © 2024