สยามฟิชชิ่ง
หน้าแรก|กระดาน|รีวิว|ประมูล|ตลาด|เปิดท้าย
login | สมัครสมาชิก | วิธีสมัครสมาชิก | ลืมชื่อ/รหัส | login ไม่ได้? | 27 เม.ย. 67
ซ่อนหนาม : สองปราการดักปลาได้อย่างมั่นใจ : Fishing Article
 ห้องบทความ/เทคนิค > บทความตกปลา
ความเห็น: 3 - [19 เม.ย. 48, 19:35] ดู: 7,741 - [20 เม.ย. 67, 03:24] โหวต: 3
ซ่อนหนาม : สองปราการดักปลาได้อย่างมั่นใจ
pinto2 (230 คะแนนโหวตจากผู้ชมกระทู้) offline
14 เม.ย. 48, 22:26
1
ซ่อนหนาม : สองปราการดักปลาได้อย่างมั่นใจ

ซ่อนหนาม เป็นเครื่องมือดักปลาช่อน ปลาชะโด ใช้ไม้ไผ่ประกอบเป็นโครงรูปลักษณะคล้ายกรวย แต่มีขนาดยาว หลักการทำงานสำคัญคือกรวยขนาดยาวที่คล้ายอุโมงค์ ทำให้ปลาลำตัวยาวที่เข้าไปแล้วกลับตัวออกมาไม่ได้ เพราะแคบ และยังถูกหนามที่มัดซ่อนไว้เกี่ยวไว้อีกด้วย

ซ่อนหนามใช้หลักการเดียวกับซ่อน แต่ซ่อนสานด้วยตอกไม้ไผ่เป็นลายขัด สานเป็นตาสี่เหลี่ยม และไม่ต้องใช้หนาม เพราะสานเป็นตาข่ายรูปทรงกระบอกกันปลาออกได้ ซ่อนมักดักได้ปลาดุก ปลาช่อน

ซ่อนและซ่อนหนามเป็นเครื่องมือกลุ่มเดียวกับชุด เครื่องมือกลุ่มนี้ใช้ความยาวความแคบเป็นหลักการทำงานทั้งสิ้น และแม้ซ่อนกับซ่อนหนามจะมีชื่อคล้ายกัน แต่ซ่อนใช้งานและได้ปลาคล้ายชุด จะต่างกับชุดตรงที่วัสดุ ที่ซ่อนใช้ตอกไม้ไผ่ ชุดใช้เถาวัลย์ ส่วนซ่อนหนามใช้ไม้ชิ้นๆ เป็นโครง แข็งแรงกว่า และใช้หนามช่วยเสริมการทำงานอีกชั้น ทำให้ได้ปลาขนาดใหญ่อย่างปลาชะโดด้วย

ชาวบ้านใช้ซ่อนหนามดักปลาได้ทุกฤดูกาล ในฤดูแล้งดักตามท้องร่อง ตามพื้นที่เป็นโคลนตมน้ำตื้น หน้านี้ปลาช่อน ปลาชะโดสามารถหมกตัวในโคลนลึกได้เป็นเดือน ในฤดูฝนปลาพวกนี้ไล่ฮุบกินปลาเล็กๆ สัตว์ตัวเล็กตามผิวน้ำอย่างกุ้ง แมลง กบ งู เขียด ช่วงฤดูฝนชาวบ้านจึงใช้แหทอดไปตามผิวน้ำที่เห็นปลาไล่ฮุบเหยื่อ หรือฮุบอากาศเหนือน้ำเพื่อหายใจ หรือดูเงายาวๆ ที่ผิวน้ำก็ได้ นอกจากนี้ในช่วงหน้าฝนปลาช่อน ปลาชะโดยังเสือกไสตัวไปตามสนุ่น หรือวัชพืชตามแหล่งน้ำด้วย ปลาช่อนตีสนุ่นเป็นหลุมหญ้าเรียกว่าการกัดกะโพร้ง ส่วนปลาชะโดตัวใหญ่กว่าตีกว้าง ลึก และแรงกว่า ชาวบ้านเรียกว่าชะโดตีแปลง ชาวบ้านจึงทำเครื่องมืออย่างชุด ซ่อน และซ่อนหนาม วางดักไว้ตามทางผ่านที่ปลาจะเข้าออกบริเวณที่ปลาเตรียมพื้นที่เพื่อวางไข่ ซึ่งซ่อนหนามดักปลาชะโดได้ด้วยดังกล่าว

วัสดุทำซ่อนหนาม ได้แก่ ไม้ไผ่ หนาม เชือกหรือลวด

วิธีทำ นำไม้ไผ่ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๒ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๓๐ เซนติเมตร มาผ่าแยกเป็น ๔ ส่วน ไม่ต้องผ่าจนสุดความยาวของกระบอก แล้วฉีกไม้ไผ่ออกให้คล้ายกรวย คือปากทางเข้ากว้างจนค่อยๆ แคบลงและตันในที่สุด นำหนามพืช เช่น หนามหวาย ซึ่งมีหนามขึ้นถี่ๆ ตลอดก้าน มัดกับด้านในของไม้ไผ่แต่ละซีก แล้วใช้เชือกหรือลวดมัดแต่งปากทางเข้าให้มีขนาดเท่าๆ กับขนาดตัวปลาที่ต้องการ

นำซ่อนหนามวางดักหน้ากะโพร้ง หรือหน้าแอ่งแปลงหญ้า เตรียมเชือกมัดซ่อนหนามไว้กับหลักไม้ ต้นไม้แถวนั้น เพื่อป้องกันปลาดันหรือดิ้นพาเครื่องมือไปที่อื่น

เมื่อปลาเข้าไปติดเครื่องมือจะหนีออกมาไม่ได้ เพราะเป็นปลาตัวยาว ตัวสอบขนานไปกับโครงไม้ ทั้งยังไม่มีพื้นที่ให้ปลาพลิกเลี้ยวตัวออกมาได้ หากปลาดิ้นขยับจะถูกหนามเกี่ยวไว้

การใช้ซ่อนหนามดักวางตามกะโพร้งหรือแปลงหญ้าไม่ต้องใช้เหยื่อ เพียงแต่ต้องสังเกตพื้นที่ที่ปลาทำไว้ แต่หากไม่ดักอย่างนี้ก็ยังดักได้อีกพื้นที่หนึ่ง คือดักระหว่างคันนา ซึ่งชาวบ้านเป็นฝ่ายสร้างพื้นที่เพื่อดักปลา แต่การดักตามคันนาได้ปลาช่อนเป็นหลัก ปลาชะโดมีขนาดใหญ่กว่าปลาช่อน แม้ชอบกบดานตามพื้นดินใต้น้ำ แต่ตัวใหญ่มักอยู่ตามแหล่งน้ำมากกว่าพล่านในท้องนา

ถ้าจะดักระหว่างคันนา ต้องขุดดินเป็นร่องลึกเล็กน้อยให้น้ำไหลรินๆ วางเครื่องมือไว้ในร่องน้ำ ใช้ขอไม้ไผ่หลายอันปักยึดเครื่องมือไว้ รอเวลาปลาพล่านจนเข้ามาติด ซึ่งถ้าต้องการเพิ่มความมั่นใจว่าจะมีปลามาติดแน่ๆ ควรนำดินโคลนจากที่อื่นมาตกแต่งไว้ตามปากทางเข้า กล่าวกันว่ากลิ่นดินจากแหล่งอื่นจะทำให้ปลาพล่านไปตามที่ที่เป็นแหล่งใหม่ นอกจากโคลนแล้วยังมักหาเศษใบไม้ ใบหญ้ามาวางปิดกันแดด น้ำแถวนั้นจะได้ไม่ร้อน ปลาจะเข้าไปและอยู่ได้นานๆ

หมายความได้ว่าการดักตามคันนาจะได้ปลาช่อนเป็นหลัก ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้ซ่อนหนามก็ได้ แค่ชุดหรือซ่อนก็พอรับแรงปลาช่อนได้ เพียงรูปลักษณะยาวๆ อย่างเดียวก็กักปลาช่อนได้แล้ว หนามที่ซ่อนไว้กับซ่อนหนามเป็นส่วนประกอบเกินความจำเป็นสำหรับบริเวณคันนา

แต่หนามเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องมือสำหรับปลาช่อนและปลาชะโดที่ใหญ่ขึ้น ในทำเลธรรมชาติ

ซ่อนหนามใช้ทั้งความแคบยาวและความคมของหนามทำงาน ทำให้เห็นวิธีการที่ชาวบ้านเพิ่มกลไกทำงานให้เครื่องมือเครื่องใช้ และเลือกใช้เครื่องมือที่ทำขึ้นมาอย่างหลายหลาก ตอบสนองความต้องการที่หลากหลายทุกรายละเอียด


จาก พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี จังหวัดพิษณุโลก
กรุณา ลงทะเบียน และ login ก่อนส่งความเห็นครับ
siamfishing.com © 2024