สยามฟิชชิ่ง
หน้าแรก|กระดาน|รีวิว|ประมูล|ตลาด|เปิดท้าย
login | สมัครสมาชิก | วิธีสมัครสมาชิก | ลืมชื่อ/รหัส | login ไม่ได้? | 29 มี.ค. 67
การกระทำผิด พ.ร.บ.แอลกอฮอลล์ พ.ศ.2551,การกระทำผิดซึ่งหน้า,การละเว้นปฎิบัติหน้าที : Fishing Article
 ห้องบทความ/เทคนิค > บทความอื่นๆ
ความเห็น: 13 - [24 ต.ค. 58, 13:50] ดู: 1,418 - [25 มี.ค. 67, 21:49] โหวต: 4
การกระทำผิด พ.ร.บ.แอลกอฮอลล์ พ.ศ.2551,การกระทำผิดซึ่งหน้า,การละเว้นปฎิบัติหน้าที
bowl (171 คะแนนโหวตจากผู้ชมกระทู้) offline
23 ต.ค. 58, 12:54
1
มีข้อคิดควรรู้จากคำให้สัมภาษณ์ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ในข่าวดาราทำผิด พ.ร.บ.แอลกอฮอลล์ พ.ศ.2551 ว่าผิดหรือไม่ กระทำไปโดยไม่มีค่าตอบแทน
กระทำไปโดยไม่รู้ หรือ รู้เท่าไม่ถึงการณ์ มาฟังความเห็นจากเจ้าหน้าที่กัน:-

โพสต์รูปลงสื่อออนไลน์ ไม่ใช่ความผิดซึ่งหน้า

พล.ต.ท.ชยุต ธนทวีรัชต์ หัวหน้าจเรตำรวจ (สบ 8) เปิดเผยกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ถึงกรณีการโพสต์รูปในสื่อออนไลน์พร้อมบรรยายในเชิงเชิญชวนให้ดื่มแอลกอฮอล์ว่า ในบางกรณีไม่ถือเป็นการกระทำความผิดซึ่งหน้า เนื่องจากความผิดซึ่งหน้า ตำรวจจะต้องเห็นต่อหน้าต่อตาในขณะที่กระทำความผิด ต้องอยู่ในรัศมีของสายตาที่สามารถมองเห็นได้ จึงจะถือว่าเป็นความผิดซึ่งหน้า ส่วนหากมีหลักฐานยืนยันชัดเจน สามารถแจ้งความได้ที่ตำรวจท้องที่นั้น

ไม่จับกุม-ช่วยรอดคุก เจ้าพนักงานมีความผิด!

การที่ตำรวจไม่จับกุมผู้กระทำความผิดถือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่นั้น พล.ต.ท.ชยุต อธิบายว่า จะต้องพิจารณาดูว่าตำรวจรายนั้นรู้หรือไม่ว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้น และสอบสวนสาเหตุก่อนว่าเพราะอะไรตำรวจจึงยังไม่จับกุม ต้องรอเจ้าทุกข์เข้ามาร้องเรียนก่อนหรือรอมีหลักฐานให้ชัดเจนหรือไม่ ซึ่งหากพบว่าตำรวจรายนั้นละเว้นการปฏิบัติหน้าที่จริงก็จะมีกฎหมายเอาผิดต่อไป

หากเป็นกรณีที่ผู้รักษากฎหมายช่วยเหลือผู้กระทำผิดให้รอดพ้นจากคดี มีความผิดหรือไม่ หัวหน้าจเรตำรวจ ให้คำตอบว่า “มีความผิดอยู่แล้ว คนที่ได้รับผลกระทบต้องไปร้องทุกข์กล่าวโทษ ฟ้องร้องก็ได้ จะเข้าข่ายผิดกฎหมายมาตราไหนยังบอกไม่ได้ ขึ้นอยู่กับพฤติการณ์ของผู้กระทำความผิด การช่วยเหลือผู้กระทำความผิดสามารถทำได้หลายอย่าง เช่น เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือในขณะที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่หรือไม่ เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือเพราะเป็นเครือญาติ หรือเจ้าหน้าที่ไม่ได้มีหน้าที่ในส่วนนั้นแต่เข้าไปช่วยเหลือ ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง”

ขั้นตอนการดำเนินคดี ก.ม. ควบคุมแอลกอฮอล์ ที่ควรรู้!

ด้าน เรือโทสมนึก เสียงก้อง โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ให้ความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนการตัดสินคดีเกี่ยวกับคดี พ.ร.บ.ควบคุมแอลกอฮอล์ โดยคดีประเภทนี้เป็นคดีอาญา การดำเนินคดีจะต้องเริ่มต้นที่...

1. พนักงานสอบสวนมีการร้องทุกข์กล่าวโทษว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้น
2. เมื่อสอบสวนแล้วพนักงานสอบสวนจะต้องส่งสำนวนให้กับพนักงานอัยการ และพนักงานอัยการจะพิจารณาว่าตามที่พนักงานสอบสวนได้สอบสวนผู้ต้องหานั้น มีการกระทำความผิดจริงตามที่ร้องทุกข์กล่าวโทษหรือไม่
3. ถ้ามีความผิดจริงก็จะมีความเห็นให้สั่งฟ้องและยื่นฟ้องต่อศาล

รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ผิดครั้งแรก ไม่เจตนา พนักงานสอบสวนมีสิทธิ์ให้ความเห็นตามกฎหมาย

รู้เท่าไม่ถึงการณ์ กระทำผิดครั้งแรก เจตนาไม่เจตนา เป็นความเห็นชั้นต้นของพนักงานสอบสวน โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด อธิบายถึงเรื่องนี้ว่า กฎหมายกำหนดไว้ว่าในชั้นพนักงานสอบสวน มีหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐานทั้งสองฝ่าย คือ ฝ่ายที่กล่าวหา และฝ่ายผู้ต้องหา รวมทั้งหลักฐานที่พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหาด้วย จากนั้น เมื่อรวบรวมครบทั้งสองอย่าง ตำรวจจะประมวลความเห็นว่า ผู้ต้องหากระทำความผิดหรือว่าผู้ต้องหาบริสุทธิ์

แต่ไม่ว่าพนักงานสอบสวนจะมีความเห็นว่ารู้เท่าไม่ถึงการณ์ กระทำผิดครั้งแรก เจตนาไม่เจตนา การสรุปสำนวนนั้น จะต้องส่งให้อัยการทุกๆเรื่อง เพราะอัยการต้องพิจารณาว่าเห็นด้วยกับพนักงานสอบสวนหรือไม่ ถ้าเห็นด้วยก็จะมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง แต่ถ้าไม่เห็นด้วยก็จะดำเนินการสั่งฟ้องและให้ตำรวจส่งตัวผู้ต้องหาเพื่อฟ้องศาลต่อไป

หากเจ้าพนักงานผู้รักษากฎหมาย บอกว่า ผู้กระทำผิดรู้เท่าไม่ถึงการณ์ กระทำผิดครั้งแรก หรือไม่ได้มีเจตนา จึงไม่ควบคุมตัวผู้กระทำผิดไปดำเนินคดี เจ้าพนักงานมีความผิดหรือไม่ โดย เรือโทสมนึก ให้คำชี้แจงว่าขึ้นอยู่กับพฤติการณ์ของผู้กระทำผิด แต่ตามกฎหมายแล้ว บุคคลจะอ้างไม่รู้กฎหมายไม่ได้ เพราะกฎหมายออกมามีการประกาศในราชกิจจาฯ ส่วนการกระทำผิดครั้งแรก โดยหลักแล้วเป็นเรื่องที่ไม่ยกเว้น แต่หากเป็นการกระทำที่ไม่ได้มีความเลวร้ายหรือส่งผลกระทบต่อบุคคลอื่น เจ้าพนักงานมีสิทธิ์แค่ตักเตือนได้

สำหรับเรื่องกรณีศิลปินดาราโพสต์ภาพเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น เรือโทสมนึก ไม่ขอตอบ เนื่องจากกำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อยู่ในกระแสสังคม และอาจไปเกี่ยวข้องในช่วงที่กำลังดำเนินคดี

เรื่องเงียบ ไม่ส่งสำนวนให้อัยการ มีความผิดหรือไม่?

เรือโทสมนึก ให้คำตอบว่า ในเรื่องความรับผิดชอบของพนักงานสอบสวน การทำสำนวนจะมีระยะเวลาว่าเรื่องไหนต้องทำภายในระยะเวลาเท่าใด แต่ถ้าไม่ได้ทำตามระเบียบ จึงเป็นเรื่องของผู้บังคับบัญชาที่จะใช้มาตรการทางการปกครองส่วนหนึ่ง เช่น ไม่เลื่อนขั้น ไม่ปรับเงินเดือน หรืออาจจะดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งทางการปกครอง เพราะมีข้อบกพร่องในการทำงาน

ทีมข่าวฯ ถามต่อว่า เกี่ยวกับมาตรา 157 (ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติ หน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ) ด้วยหรือไม่นั้น โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ตอบว่า ต้องดูรายละเอียดว่าเจ้าพนักงานไม่ปฏิบัติตามหน้าที่อย่างไร และมีการเรียกรับผลประโยชน์หรือได้ประโยชน์อะไรในงานนั้น เนื่องจากบางครั้งความล่าช้า หลงลืม ไม่ได้เข้าข่ายมาตรา 157

เรื่องราวของเหล่าเซเลบกับแง่บทกฎหมายจะจบลงเช่นไร ประชาชนต้องจับตาดูกันต่อไป.

ขอบคุณเครดิต: ไทยรัฐออนไลน์

หวังว่าน้าๆคงจะได้ความกระจ่าง และได้คำตอบในบางประเด็นที่สงสัยกันนะครับ หากมีประเด็นอะไรที่น่าสนใจ จะนำมาเผยแพร่ต่อไปครับ ขอบคุณครับ
กรุณา ลงทะเบียน และ login ก่อนส่งความเห็นครับ
siamfishing.com © 2024