สยามฟิชชิ่ง
หน้าแรก|กระดาน|รีวิว|ประมูล|ตลาด|เปิดท้าย
login | สมัครสมาชิก | วิธีสมัครสมาชิก | ลืมชื่อ/รหัส | login ไม่ได้? | 28 เม.ย. 67
คุยเฟื่องเรื่องเขียน : Fishing Article
 ห้องบทความ/เทคนิค > บทความอื่นๆ
ความเห็น: 5 - [8 ต.ค. 53, 16:30] ดู: 2,649 - [27 เม.ย. 67, 00:24] โหวต: 5
คุยเฟื่องเรื่องเขียน
ป.ประจิณ (232 คะแนนโหวตจากผู้ชมกระทู้) offline
14 ต.ค. 52, 21:41
1
คุยเฟื่องเรื่องเขียน
ภาพที่ 1
                                             
                                                  คุยเฟื่องเรื่องเขียน

      เป็นลูกติดพันจากเรื่องที่แล้ว “ยำใหญ่ใส่ธรรมะ 1” ที่เขียนทิ้งไว้เกี่ยวกับนักเขียน วิธีการเขียนแบบคร่าว ๆ ทำให้คาใจว่าผู้อ่านจำนวนมากคงยังสงสัยในสิ่งที่ผมเกริ่นนำไป ว่าจะจับเอาใจความ วิธีการมาใช้ใน “เขียน” ได้อย่างไร ถ้าเกิดอยากจะเป็นนักคิดนักเขียนกับเขาบ้าง
      ก่อนอื่นต้องขอออกตัวก่อนว่าผมไม่ได้เป็นครู นักเขียนที่โด่งดังอะไร แต่กำลังค้นหาวิธีต่าง ๆ ในการเรียนรู้ในเรื่องการเขียน จากตำรา ข้อคิดของนักประพันธ์เอกของไทย และของโลก ซึ่งหาได้ยากมาก ไม่มีใครสามารถจะสอนได้โดยตรง มีแต่คำแนะนำเลียบ ๆ เคียง ๆ ที่เราต้องจับใจความเอาเอง
    ที่เขียนไว้เป็นตำราทางวิชาการเรื่องการสื่อสาร หรือนิเทศศาสตร์ ก็พอหาอ่านได้ แต่นักวิชาการเหล่านั้นก็ไม่ได้เป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียง หรือมีงานประพันธ์ที่เด่นจนติดอันดับเบสต์เซลเล่อ ส่วนนักเขียนที่มีชื่อเสียงกลับไม่ได้เป็นนักวิชาการ มันเป็นเรื่องที่น่าคิดว่าเกิดอะไรขึ้นระหว่างจิต ของบุคคลทั้งสอง
 
 
   

 

   


                       
     

     
   
     
     
   
คุยเฟื่องเรื่องเขียน
ภาพที่ 2
    ผมเก็บข้อมูลเหล่านี้มาหลายปี และกำลังนำมาทดลองใช้ในงานเขียน หวังว่าสักวันหนึ่งจะพบแนวทางที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเองชัดเจนที่สุด เหมือนพ่อครัวที่ปรุงสุดยอดอาหารจานเด็ด ปรุงจนออกมาเด่นจากเมนูนับร้อยที่มีให้เลือกตรงหน้า
    นักเขียนใหญ่หลายท่านบอกไว้ตรง “การเขียนสอนกันไม่ได้...แต่แนะนำกันได้” การจะเป็นนักเขียนได้ ต้องเริ่มจากการเขียน เป็นแนวทางที่ตรง และลัดสั้นที่สุด ไม่มีทางอื่นอีกแล้ว อยากทำอาหารเก่งก็ต้องเข้าครัว
    ก่อนจะปรุงอาหารเราต้องรู้ว่าเราชอบทานอะไร แบบไหนที่ทำได้ และมีวัตถุดิบอะไรบ้างในตู้เย็น ห้องครัว สำรวจดูให้ทั่ว ถ้าไม่มีเราก็จำเป็นต้องไปจ่ายตลาด หรือหาข้อมูลที่จำเป็นสำหรับเรื่องนั้น ๆ เราจะเขียนเรื่องตกปลา ก็ต้องออกไปสู่โลกกว้าง ทั้งน้ำจืด น้ำเค็ม หรือห้องสมุดสำหรับงานวิชาการ
   
    เมื่อได้วัตถุดิบ หรือข้อมูลมาแล้ว คราวนี้ก็คือขั้นตอนของการปรุงอาหาร เตรียมความคิด คัดแยก ล้าง จัดหมวดหมู่ จะต้องใช้อะไร มากน้อยแค่ไหน ใส่อะไรก่อนหลัง อันนี้เป็นเทคนิคของแต่ละคน ที่เรียนรู้กันได้ จากการทำบ่อย ๆ แต่สิ่งที่ทำให้อาหารที่ใช้วัตถุดิบจากตลาดเดียวกัน อร่อยผิดกัน มันอยู่ที่ใจ ผ่านปลายจวักสู่สุดยอดอาหารจานเด็ด
คุยเฟื่องเรื่องเขียน
ภาพที่ 3
    สิ่งที่ผมจะเขียนต่อไปนี้เป็นแนวทาง หรือขั้นตอนของการปรุงอาหาร ปรุงเรื่อง ให้น่ากิน น่าอ่าน จากวัตถุดิบทั่ว ๆ ไป ที่อยู่รอบตัวเรา ไม่ได้ไปแสวงหาสิ่งวิเศษจากไหนมาปรุง ทุกอย่างอยู่ในตัวเรา ดูกาย ดูจิต ให้ชัดเจน แล้วเอาใจซื่อ ๆ ตรง ๆ ของเราที่สัมผัสกับเรื่องต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน หน้าที่การงาน ครอบครัว การพักผ่อน สุข ทุกข์ ดีใจ เศร้าใจ โลภ โกรธ หลง  มายำรวมกันอย่างมีศิลปะ มีเอกภาพ กลมกลืน จนอ่านแล้วชื่นใจ  ตรึงใจ ในรสชาดที่ปรุง

    ไม่ว่าจะเป็นการเขียนในเรื่องใด ๆ บทความ สารคดี เรื่องสั้น หรือนิยาย ล้วนอยู่ภายใต้แนวทางนี้ทั้งสิ้นคือ 1. การตั้งชื่อเรื่อง  2. การเปิดหัว 3. เนื้อเรื่อง 4. บทสรุป ถึงจะถือว่าเป็นบทความที่ครบได้ ส่วนจะดีหรือไม่ วัดกันที่เนื้อหา ตามแก่น แกน ของส่วนสำคัญทั้งสี่นี้
    การตั้งชื่อเรื่องอาจถือว่าเป็นหัวใจของเรื่องทั้งหมด จะต้องหยุดคนให้ได้ อยากรู้ อยากอ่าน เห็นชื่อเรื่องแล้วน้ำลายไหล เหมือนเห็นสาวสวย แล้วไม่ได้มองตาม มันหงุดหงิด ต้องเปิดหัวดูให้ได้ว่าเรื่องนี้มันดี มีประโยชน์ยังไง จะต้องขอรู้จักแม่สาวคนนี้เสียหน่อย ว่ากินอะไรมาถึงขาว สวย หมวย...อึ๋ม !
 
    ส่วนเนื้อเรื่องต้องสั้น กระชับ จับประเด็น ใช้ภาษาง่าย ๆ ให้ได้อารมณ์ รัก โศกเศร้า โกรธ เกลียด เดินเรื่องเร็ว ชวนติดตาม ตื่นเต้น สงสัย เร้าใจตลอด เหมือนได้ถูกเนื้อต้องตัวสาวเจ้า เล่นเอาเราเสียว ให้คนอ่านตามต่อไป แต่เราจะไม่ยอมเปิดเผยจุดสำคัญของเรื่องโดยเด็ดขาด...จนกว่าจะถึงบทสรุป คือจุดที่สำคัญที่สุดของเรื่อง “ไคลแมกซ์” จะถูกเปิดเผยในบรรทัดสุดท้าย ให้ข้อคิดคำตอบ มีประโยชน์ สร้างความสนุกสนาน ความประทับใจ สุขใจแก่ผู้อ่าน ตอนจบต้องเป็นตอนที่ดีที่สุดของเรื่อง เหมือนได้เปลื้องผ้าพากันขึ้นสวรรค์กับสาวน้อยที่ตามมานาน...ที่สำคัญอย่าได้ล่มปากอ่าว...เรื่องราวที่เขียนมาดีจะเสียหมด
    หัวใจของความสำเร็จในการเขียนทั้งหมด จะต้องแตกต่าง และดีกว่า ต้องมีแนวคิดหรือเป้าหมายในชีวิตที่ชัดเจน ถึงจะถ่ายทอดหัวใจออกมาเป็นตัวหนังสือได้ เมื่อเราทำในสิ่งที่แตกต่าง เราจะโดดเด่น มีคุณค่า ไม่เหมือนใคร เพราะโลกนี้ไม่มีใครเหมือนใครหรอกครับ  กรรมเป็นเผ่าพันธุ์ กรรมเป็นแดนเกิด ทำให้เรื่องราว เรื่องเล่าของแต่ละคนไม่เหมือนกัน...เขียนมันออกมาเถอะ
คุยเฟื่องเรื่องเขียน
ภาพที่ 4
  “เขียนจากการปฏิบัติไปหาทฤษฎี” ยาขอบ...นักเขียนผู้โด่งดังในเรื่อง “ผู้ชนะสิบทิศ”บอกไว้เมื่อ 50 กว่าปีที่แล้ว เหตุที่เราต้องศึกษางานของบรมครูในอดีต เพราะงานของท่านเหล่านี้ได้ผ่านกาลเวลา ผ่านร้อน หนาว มาจนได้ข้อพิสูจน์ว่าอมตะชั่วนิรันดร์กาล อยู่มาได้โดยไม่ต้องพึ่งการโฆษณา ใครอยากได้ อยากเสพอรรถรสทางคุณค่าที่แท้จริงก็ต้องแสวงหาเอา...เมื่อพบแล้วจะอิ่มใจ นี่เป็นบางตอนที่ยาขอบเขียนบอกไว้
  “  การจะแต่งหนังสือให้ได้นั้นย่อมขึ้นอยู่กับภาพคิดของตนเองเพียงไร ยิ่งการจะแต่งหนังสือให้ประชาชนคนอ่านสบใจถึงเกิดความนิยมชมชอบด้วยแล้ว ก็ยิ่งจะต้องขึ้นอยู่กับภาพคิดที่จะต้องแจ่มจรัสรุ่งโรจน์ ขึ้นไปอีกตามส่วนด้วยเหมือนกัน”
   
    ภาพคิดหรือที่เรียกว่าให้รัดกุมไพเราะขึ้นว่า “มโนภาพ” คือภาพที่เห็นเอาเองจากความครุ่นคิด อันนอกเหนือไปจากที่เห็นด้วยสายตาโดยตรงนี้ ถึงอย่างไรสายตาโดยตรงก็มีส่วนเป็นบันไดขั้นต้นที่สำคัญมาก สิงโตเป็นสัตว์ที่มนุษย์แต่ดึกดำบรรพ์เห็นและรู้จักว่ามันเป็นที่เกรงขามของสัตว์ทั้งหลายจนได้ชื่อว่าเจ้าป่า แต่ถึงกระนั้นความก้าวไกลแห่งสมองหรือความคิด ที่ยังอยากเห็นภาพสัตว์อะไรที่น่ากลัวและดุร้ายให้ยิ่งไปกว่า กำยำน่ากลัวยิ่งขึ้นอีก ในที่สุดก็ได้สัตว์ขึ้นมาอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งต่างก็ไม่เคยเห็นด้วยสายตาของตนเองเลย คือ ราชสีห์ ขึ้นมา
   
    ในการที่เราจะปลุกภาพคิดนั้น ในขั้นต้นเราจะกำหนดกันไว้กว้าง ๆ ก่อนว่า เราจะปลุกขึ้นมาจากสิ่งที่เราได้พบได้เห็นมา ทั้งในกาย จิต สิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวเรา  สุนทรภู่ปลุกภาพผีเสื้อสมุทรจากสาวสวยคนหนึ่ง เอาอารมณ์รัก โลภ โกรธ หลง มาสร้างเป็นนางยักษ์ นางมารให้พวกเราได้รับความสำราญจากการอ่าน ฟัง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็มีอยู่ในมนุษย์ปุถุชนทั่วไป แล้วไฉนจึงเป็นงานวรรณกรรมชิ้นเอกขึ้นมาได้
    วิสัยของหนังสือที่ดี ย่อมทำให้จิตใจและความรู้สึกของผู้อ่านตื่นเต้น หรือสะอื้นในอก อยากร้องไห้ หัวเราะ เครียด แน่น มีความสุข ผ่อนคลายเสมอกันหมด ในทางการประพันธ์แล้ว อย่าไปฝืนความรู้สึกนั้นไม่ว่าขณะอ่านหรือเขียน ปล่อยให้อรรถรสของเรื่องแผ่อิทธิพลซาบซ่านเข้ามาในความเคลิบเคลิ้มของเรา “อิน” จนขนลุกนั้นแหละดี
คุยเฟื่องเรื่องเขียน
ภาพที่ 5
  “มิได้เป็นนักอ่าน...อย่าได้ริเป็นนักเขียน” ทำไมผู้ที่ตั้งต้นจะเป็นนักเขียน นักประพันธ์ จึงต้องอ่านหนังสือให้ได้มาก ได้รสผิดแผกไปจากนักอ่านทั่วไปถึงเพียงนี้ เพราะนักอ่านทั่วไปนั้น จุดประสงค์อยู่ที่การพักผ่อนหย่อนใจของเขาชั่วครู่ชั่วยามเท่านั้นเอง ไม่สนุกก็ด่า ดีก็ชม แต่การอ่านสำหรับนักเขียน เป็นการอ่านเพื่อให้ปุ๋ย พรวนสมองของตัวเอง สำหรับจะไปสร้างความสุข ให้ข้อคิด ชี้นำ ให้เกิดประโยชน์แก่ผู้อื่นต่อไป ผู้ที่รักการเขียนจึงต้องอ่านเพื่อปลุกภาพคิดนั้น
   
    ไอน์สไตน์กล่าวว่า “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้” งานเขียนจักสำเร็จได้ก็ด้วยอาศัยภาพคิดหรือจินตนาการอันซาบซึ้ง และแจ่มชัดของเรานี่เอง เราต้องจับเอาข้อนี้ให้ได้เสียทีหนึ่งก่อน อะไรเป็นเหตุปัจจัยให้เราเกิดจินตนาการ ความปลอดโปร่งแห่งอารมณ์เป็นคำตอบสุดท้าย เป็น “ศีล 5” ของพรสวรรค์ หลังชีวิตถูกบีบคั้นจากเหตุการณ์ที่ล้วนแต่ร้าย ๆ ทุกข์ยาก สมบุกสมบันจนผ่านมันมาได้  เห็นสัจธรรม จิตมีความปลอดโปร่ง ก็จะถ่ายทอดเรื่องราวต่าง ๆ ออกมาได้ถึงจิตถึงใจ
   
    “อนิจจาตัวเราก็เท่านี้ ยังไม่มีพสุธาจะอาศัย” ประโยคนี้จะออกมาไม่ได้ ถ้าสุนทรภู่ไม่ตกระกำลำบาก ต้องถูกบังคับให้กลายเป็นคนเรือเร่ร่อน พลัดที่นา คาที่อยู่ หุงหากินเอง แจวพายเรือเอง ขลุกอยู่ในเรือซึ่งมีเนื้อที่เท่าแมวดิ้นตาย ความทุกข์ทนหม่นหมอง ทำให้ท่านภู่เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ ในชีวิตของตัวเองนั้นเป็นความจริง แต่ภายหลังที่ได้หัวเราะเยาะชีวิตบัดซบแล้ว เกิดความปลอดโปร่ง เป็นปัจจัยให้เกิดภาพคิด หรือจินตนาการอันซาบซึ้ง จนกลั่นประโยคนี้ออกมาได้อย่างโหยไห้ “อนิจจาตัวเรา................................”
      คิดให้ไกลไม่ว่าจะไปถึงหรือไม่ ๆ ต้องสนในเหตุผล ความคิดดี ๆ ไม่ใช่ว่าจะออกมาแบบง่าย ๆทันทีทันใด ปัญหาของนักเขียนใหม่อยู่ตรงที่ยังไม่คิดให้ถึงที่สุด พอสะดุดอะไรเข้านิดหน่อยก็หยุด ความคิดนั้น ยังไม่ทันจะคลอดออกมา ก็แท้งเสียก่อนอย่างน่าเสียดาย
   
    ในการเริ่มต้นสร้างความคิด เราไม่จำเป็นต้องสนใจเหตุผลต่าง ๆ มากนัก คิดให้มันสุด ๆ แบบหลุดโลกไปเลย อย่ายึดติดในกรอบที่วางเอาไว้ ถือเป็น “ระยะฟุ้งซ่าน” ห้ามอยู่ในกฎเกณฑ์เด็ดขาด เพราะไม่อย่างนั้น หลักและเหตุผลอาจสกัดกั้นความคิดไว้ได้ จนกระทั้งเจอะความคิดที่ใช้ได้ แจ่มชัดนั้นเหละ ถึงค่อยเอาเหตุผล หลักการเข้ามาจับ ตัดต่อ ตกแต่ง เรื่องราวให้ดูสมจริง ถึงตอนนั้นแล้วความคิดเราจะเริ่มมีแกนหรือ “แก่น” เพื่อให้งานของเรามีคุณค่า เปรียบได้กับอาหาร อร่อยอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายด้วย “อย่าให้สวยแต่รูปจูบไม่หอม”
คุยเฟื่องเรื่องเขียน
ภาพที่ 6
    ก่อนที่จะเขียน เราควรจะเริ่มคิดแก่นเรื่องก่อน แก่นเรื่อง  สารัตถะหรือแนวคิด คือ ความคิดรวบยอดที่ดำรงอยู่ในเรื่องราวที่นักเขียนบรรจงสร้างสรรค์ขึ้นมา เป็นความหมายของเรื่องที่นักเขียนต้องการจะสื่อถึงผู้อ่าน แก่นเรื่องไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว มันมีความสัมพันธ์กับส่วนอื่น ๆ ของเรื่องทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นตัวละคร โครงเรื่อง ฉาก มุมมอง แบบวิธีการเขียน น้ำเสียง  จังหวะ ตอน สัดส่วนและน้ำหนัก ตามพล็อตที่มีอยู่ไม่กี่แบบเท่านั้น
   
    ในโลกของเรื่องราวมากมายที่เล่าผ่านสื่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ ละครเวที วิทยุ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ การ์ตูน และแอมิเนชั่น แต่เมื่อเจาะลึกถึงโครงสร้างกันจริง ๆ แล้ว พล็อตที่ใช้กันมีเพียงไม่กี่แบบเท่านั้น เช่น
    พล็อตเกี่ยวกับความสำคัญของมนุษย์ ได้แก่ความสัมพันธ์ในเชิงมิตรภาพ ความรักที่มีอุปสรรค หวานชื่น มิตรภาพระหว่างคนในสังคมเดียวกัน กลุ่มอาชีพ ความขัดแย้ง คู่แข่ง คู่อริ ตลก แนวซูเปอร์ฮีโร่ การแข่งขันแนวกีฬา พล็อตเกี่ยวกับชีวิตที่ทุกข์ลำเค็ญ ความยากจน เชื้อชาติและสีผิว ความพิการ แปลกแยก อาชีพที่น่ารังเกียจ ภาวะสงคราม  การเรียนรู้ระหว่างก้าวผ่านจุดเปลี่ยนของชีวิตในวัยเด็ก วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ วัยชรา ทำให้เห็นมุมมองแตกต่างกันไป
   
    การแสดงธาตุแท้ / ตัวตน / ฐานะที่แท้จริงของมนุษย์ การเปิดเผยโฉมหน้า สลับร่าง ปลอมตัว โกหก ฆาตกรรม ซ่อนเร้น การเผชิญหน้ากับอันตราย  ปกป้องชีวิต โลก ประเทศชาติ ปฏิบัติการลับ เรื่องอิงประวัติศาสตร์ หลบหนีจากวิกฤตความเป็นตาย จากธรรมชาติ มนุษย์ด้วยกันเอง สัตว์ร้าย เชื้อโรคร้ายต่าง ๆ มนุษย์ต่างดาว อสุรกาย ภูตผี เทวดา อินทร์ พรหม หรือยมทูต ตลอดจนเทคโนโลยีต่าง ๆ ก็เป็นพล็อตที่เห็นมีอยู่ทั่วไป
   
    นอกจากนั้นยังมีพล็อตเกี่ยวกับการเดินทางค้นหา สิ่งที่เป็นรูปธรรม นามธรรม สิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ อำนาจชั่วร้าย ความจริง แย่งชิงของสำคัญ ขุมทรัพย์ การท่องเที่ยวไปในโลกแห่งจินตนาการ ในช่วงเวลาต่าง ๆ โลกของสัตว์ โลกสมมติในอนาคตหรือดึกดำบรรพ์ การมาเยือนของสิ่งที่คาดไม่ถึง ดั้นด้นไปให้ถึงจุดหมาย ก้าวไปสู่หายนะด้วยความที่รู้ไม่ถึง ความโลภ โกรธ หลง ในเรื่องเพศ  ความรัก อำนาจ ชาติกำเนิด ความรู้ ความสามารถ สนุกสนาน ขลาดกลัว มั่วชีวิต ก็เป็นที่มาของพล็อตต่าง ๆ คลุมไปเกือบหมดแล้ว พอที่จะนำมาเรียงร้อยเป็นเรื่องราวได้
    โครงเรื่องเป็นสิ่งที่นักเขียนจะต้องวางเองเป็นอันดับแรก เหมือนกระดูกงูของเรือที่ช่างต่อเรือกำหนดขึ้น ทำให้รู้ว่าเรือที่จะสร้างใหญ่ เล็ก ขนาดไหน และมีวัตถุประสงค์อะไรในการต่อมันขึ้นมา จะใช้หาปลาหรือท่องเที่ยว ลักษณะของโครงเรื่องก็เช่นเดียวกัน เพราะเราจะต้องนำเหตุการณ์ต่าง ๆ มาร้อยเรียงกันตามขั้นตอนการเขียน ตอนเริ่มต้นของเรื่องราว ตอนกลาง ตอนจบ ว่าเราต้องการสื่อสารอะไรแก่ผู้อ่าน และอย่างไร ในการกำหนดโครงเรื่องโดยทั่วไป ตอนต้นควรเป็นการปูพื้นกว้าง ๆ และนำไปสู่ความเกี่ยวพันกับตอนกลางที่สลับซับซ้อนขึ้น หรือจะเรียกได้ว่าสุดท้าย
 
    “กฎของโครงเรื่อง” จากประสบการณ์ของนักเขียนหลาย ๆ คน ไม่ได้เป็นข้อกำหนดตายตัว หรือสูตรสำเร็จ การละเมิดกฎไม่ผิดแต่อย่างไร ขอให้งานออกมาดี งานจะดีได้เขาดูกันที่ ความสมจริง  กฎข้อนี้สำคัญที่สุด กล่าวง่าย ๆ ก็คือความน่าเชื่อถือในตัวของมันเอง มีเหตุผลรองรับ  คาดไม่ถึง  การคาดไม่ถึงนี้มีความสัมพันธ์กับความสมจริง ทำให้เรื่องราวน่าตื่นเต้นชวนติดตาม  ซับซ้อน โครงเรื่องที่ดีจะต้องเร้าความสงสัยใคร่รู้ของผู้อ่าน ว่าเรื่องราวจะเป็นอย่างไรในท้ายที่สุด  เอกภาพ  คือความเชื่อมโยงของเหตุการณ์ทั้งตอนต้น ตอนกลาง ตอนจบ ที่สอดคล้องกันไป สัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด มีความหมายในทางศิลปะ หรือดนตรีที่เล่นไม่ผิดคีย์
    การที่จะเขียนเรื่องให้ได้ดี เหมือนฟังดนตรีทั้งวง เราต้องพิจารณารายละเอียดทุกจุดอย่างถี่ถ้วน อะไรควรนำเสนอก่อน หลัง อะไรที่ต้องเน้นเป็นพิเศษ เพื่อให้คนอ่าน / คนฟัง / คนดูได้รับรู้อะไร ไม่ใช่ดูแค่ภาพรวมเท่านั้น แต่ต้องมองลึกเข้าไปถึงหน่วยที่เล็กที่สุด ระดับอะตอมเลยทีเดียว ส่วนที่เล็กที่สุดของงานเขียนคือตัวอักษร ถ้าเป็นสื่อที่เคลื่อนไหว ส่วนที่เล็กที่สุดคือเฟรม เมื่อนำอักษรหลาย ๆตัวมารวมกันจะได้คำ นำคำหลายคำมารวมกันเป็นประโยค หลายประโยครวมเป็นย่อหน้า  หลายย่อหน้ารวมเป็นบท หลายบทรวมเป็นเรื่อง เป็นเล่ม
 
    เช่นเดียวกับสื่อเคลื่อนไหว เช่น ภาพยนตร์ นำเฟรมหลาย ๆ เฟรมรวมกันเป็นช็อต หลายช็อตรวมกันเป็นบีต หลายบีตรวมกันเป็นฉาก หลายฉากรวมกันเป็นซีเควนซ์ หลายซีเควนซ์รวมกันเป็นองก์ หลายองก์รวมกันเป็นเรื่อง หลายคนอาจสงสัยว่ามันเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างไร เรามาดูส่วนประกอบต่าง ๆ ไล่ไปตามลำดับ
    เฟรมเท่ากับคำ เฟรมเป็นหน่วยย่อยที่สุดของภาพเคลื่อนไหว เป็นภาพนิ่ง แต่เมื่อเรานำมาฉายด้วยความเร็ว 24 เฟรม / วินาที จะเกิดภาพเคลื่อนไหวเสมือนจริง  ช็อตเท่ากับประโยค ช็อตหมายถึงภาพเคลื่อนไหวที่ต่อเนื่องกัน จนกระทั่งมีการเปลี่ยนภาพใหม่ ตราบใดที่ยังไม่มีการคัตก็เป็นหนึ่งช็อตเสมอ  บีตหรือจังหวะ บีตคือจังหวะของเรื่องราว ทุก ๆครั้งที่เกิดจุดเปลี่ยนใด ๆ ก็ตาม ถือว่าเป็นบีตทั้งสิ้น
   
    จุดเปลี่ยนที่เข้าสู่องก์ใหม่ถือเป็นบีตที่ใหญ่สุด ในแต่ละองก์ยังมีซีเควนซ์ซึ่งเป็นบีตย่อยลงมา เรื่องที่สนุกจะต้องมีบีตขึ้นลงตลอดเวลา เปรียบเหมือนโน้ตดนตรีมีเสียงสูง กลาง ต่ำ สลับกันไปตลอด ก็จะเกิดเป็นท่วงทำนองที่ไพเราะเสนาะโสด ความถี่ของบีตต้องกะให้พอดี คนดู อ่าน จะรู้สึกผ่อนคลาย  ง่วง  ตื่นเต้น  เหนื่อย ก็อยู่ที่ระยะของบีตว่าอยู่ห่างกัน ชิดกัน มากน้อยแค่ไหน บีตยังเป็นส่วนสำคัญในการบอกเล่าอารมณ์ ประกอบฉากของเรื่องได้ชัดเจนที่สุด
    ฉากเป็นส่วนที่สำคัญมาก ระหว่างภายในกับภายนอก กลางวันกับกลางคืน สว่างกับมืด กว้างกับแคบ รกรุงรังกับปลอดโปร่ง สดใสกับหม่นหมอง และอื่นๆ ล้วนส่งผลต่อตัวละคร อารมณ์ของเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นสื่อประเภทไหนก็ตาม ในการเปลี่ยนสถานที่ และเวลาแต่ละครั้ง เรานับเป็น 1 ฉากหรือ 1 ซีนเสมอ ไม่ว่าจะสั้นหรือยาวเท่าไรก็ตาม ดังนั้นใน 1 ซีเควนซ์ อาจมีหลายฉาก และเช่นเดียวกันใน 1 ฉาก ก็อาจมีหลายซีเควนซ์ได้
    ซีเควนซ์หรือตอน หมายถึงเรื่องเล็ก ๆ ที่อยู่ในเรื่องใหญ่ มีต้น กลาง ท้ายของตัวเอง และมีเนื้อหาครบถ้วนเช่นงานข่าว ใคร  ทำอะไร  ที่ไหน  อย่างไร  และเกิดผลเช่นใด  แต่ละตอนต้องมีไคลแมกซ์ เป็นช่วงที่บีตขึ้นสูงสุดของตัวเอง เป็นจุดที่ตัวละครต้องตัดสินใจ อันส่งผลให้เรื่องเดินไปใกล้คำตอบมากขึ้น ไคลแมกซ์ในตอนต่าง ๆ นี้ต้องไม่ใหญ่เท่ากับตอนท้ายเรื่องซึ่งสำคัญที่สุด การเชื่อมโยงซีเควนซ์ ต้องมีลักษณะเป็นลูกโซ่ที่ไม่ขาดตอนเป็นช่วง ๆ จึงจะได้สัดส่วนและน้ำหนัก
 
    เรื่องก็เหมือนคนเรานั่นแหละ สาวสวยที่ดูดี ถูกตาต้องใจต้องมีสัดส่วนและน้ำหนักที่พอดี ไม่อ้วน ผอมเกินไป ตั้งแต่หัวจรดเท้า ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ดูมีเสน่ห์ การหาสัดส่วนที่ดีของเรื่องนั้น บรรดานักเขียนได้ลองผิดลองถูกกันมานาน สุดท้ายก็ได้ข้อสรุปที่ยอมรับกันทั่วไป นั้นคือโครงเรื่องแบบ 3 องก์ องก์นั้นเป็นหน่วยย่อยที่ใหญ่ที่สุดของเรื่อง การเปลี่ยนองก์แต่ละครั้ง จะสร้างจุดหักเหอย่างรุนแรง และผลักดันให้เรื่องพุ่งออกไป โดยไม่มีใครสามารถยับยั้งได้
    องก์แรก เริ่มจากวินาทีแรก บรรทัดแรกเมื่อตัวละครเผชิญหน้ากับสิ่งสำคัญในชีวิต อาจเป็นเป้าหมายที่เขามุ่งมั่นจะไปให้ถึง  องก์สอง ตัวละครถูกผลักดันให้จัดการกับสิ่งที่เข้ามา แต่มีอุปสรรคมาก เหมือนหมดสิ้นหนทางที่จะไปต่อ  องก์สาม เมื่อตัวละครต้องเจอกับอุปสรรคที่ใหญ่ที่สุด เขาต้องใช้ทุกสิ่งเข้าแลก จนถึงตอนสุดท้ายของเรื่อง ซึ่งเหตุการณ์จะคลี่คลายลงด้วยความประทับใจ สะเทือนใจ หักมุม ให้ข้อคิดบางอย่าง
    สัดส่วนที่เหมาะสมของแต่ละองก์คือ 1: 2 :1 หรือถ้าคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ก็จะแบ่งเป็นองก์แรก 25 เปอร์เซ็นต์ องก์สอง 50 เปอร์เซ็นต์ องค์สามอีก 25 เปอร์เซ็นต์ เป็นสัดส่วนที่ บริษัทภาพยนตร์ใหญ่ ๆ ในฮอลลีวู้ดใช้กันมากอย่างเคร่งครัด แทบไม่มีผิดเพี้ยน สำหรับงานเขียนหนังสือเราต้องเอามาปรับให้เหมาะสมกับโครงเรื่องอีกครั้ง
คุยเฟื่องเรื่องเขียน
ภาพที่ 7
    การวางโครงเรื่อง เล่าเรื่อง โดยดูจากเส้นเวลา มีอยู่สองลักษณะ หนึ่ง การเล่าตามลำดับเวลาและเหตุการณ์ อันนี้ถือเป็นมาตรฐานครับ แต่อย่างไรก็ไม่ได้เป็นไปตามเวลาจริง จะต้องบีบให้สั้นกระชับที่สุด ตัดเหตุการณ์ที่ไม่จำเป็นออกไป  สอง การเล่าแบบไม่เป็นไปตามลำดับเวลา แยกออกไปเป็นสองแบบ เรื่องเล่าย้อนเวลา มันเริ่มจากช่วงวิกฤตของเรื่อง จากนั้นก็ย้อนเวลาไปในอดีตว่าเหตุการณ์เป็นมายังไง เล่าเรื่องแบบสลับเวลาไปมา โครงสร้างแบบนี้ถือว่ายาก คนเล่าต้องมือถึง ไม่งั้นอาจเละตุ้มเป๊ะ
    เรื่องเล่าโดยปกติจะไม่ซับซ้อนมากนัก แต่ก็มีคนที่ชอบเล่นกับเรื่องซึ่งไม่ตรงไปตรงมา ไม่ว่าจะเป็นการเล่าแบบความจริงหลายชุด หลายเรื่องในเรื่องเดียวกัน หรือเกี่ยวข้องกับคนหลายกลุ่ม จำไว้ว่า โครงเรื่องอาจซับซ้อนได้ แต่ต้องไม่สับสน เนื้อเรื่องอาจมีหลายจุดที่คาดไม่ถึง แต่ต้องง่ายต่อความเข้าใจ บางส่วนที่ดูคลุมเครือ จะต้องทำให้ดูชัดเจนในจุดที่เป็นหัวใจของเรื่อง
   
    วิธีฝึกฝนเพื่อให้เข้าใจในสิ่งที่ผมเขียนแบบ “บรี๊ฟ” มาทั้งหมด ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ แต่ก็ไม่ยากจนเกินไป ขอผู้อ่านอย่าไปติดยึดกับภาษาวิชาการ ทำใจให้เป็นกลาง แล้วเปิดเพลงลูกทุ่งฟัง จินตนาการตามเสียงเพลงให้เห็นเป็นตัวหนังสือ ภาพ สิ่งที่เคลื่อนไหวตามบทเพลง จนชัดเจนในสมอง จากนั้นนำปากกา ดินสอ กระดาษ หรือหน้าจอคอมพิวเตอร์ มาเขียน พิมพ์ตามเพลงนั้นไปเรื่อย ๆ จับประโยคให้ได้ เขียนให้จบวรรคตอน พอตอนใหม่ขึ้นก็เริ่มเขียนต่อจนกว่าจะจบเพลง แล้วก็เริ่มเพลงใหม่อีกครั้ง ทำอย่างนี้ต่อไปนับสิบเพลง ร้อยเพลง หรือวนไปมา นานนับเดือน เพื่อให้สมอง มือ จิตนาการ อุปกรณ์สัมพันธ์กัน โดยไม่ต้องกังวลว่าจะเขียนผิด ถูก หรือพิสูจน์อักษร ถ้าถูกได้ก็ดี ดังตัวอย่างที่ผมฝึกพิมพ์หน้าจอ ไปตามบทเพลงต่าง ๆ
     
    “  พี่เอารักมาฝาก เป็นความรักจากชายคนหนึ่งส่งถึงทรามวัย พี่เอารักมาส่งจากชายซื่อตรง รักกว่าน้ำดินและฟ้า หญิงทั่วทั้งโลกา ฟังนะเจ้าเขารักนงเยาว์เหลือเกิน พี่นำรักมาสู่ใช่มาหยามหลู่ ช่วยรับรักษาใจให้เขารอดตายเถอะหนา” เพลงที่ 1
      “ พอทีนะคุณการุณย์ผู้ชายเถอะหนา  คุณฆ่าผู้ชายมาแล้วมากล้น ถึงจะพอใจของคุณ หรือถือว่าสวย ว่ารวย สิ้นสาวคราวใดใคร ๆ เขาก็คงเมิน ที่ใครพากันรุมรัก เพราะหลงรักคุณนั้นหนอ ผลกรรมที่คุณนั้นก่อ สักวันละหนอคุณจะร้องให้ แต่แล้วก็ต้องอกหัก” เพลงที่ 2
      “ แฟนของใครมอเตอร์ไซทำหล่น แฟนของใครมอเตอร์ไซทำร่วง แม้นว่าใครไม่ปรารถนา หากวันนี้ถ้าไม่มีโจทร์ยื่นข้ามคืนผมจะตีทะเบียน โอโฉมงามถ้าใครไม่ตามก็โง่เป็นบ้า” เพลงที่ 3
      “ หวังกันไปก็ได้แต่หวัง หวังในใจตำรวจไม่จับ ไม่มีใครไม่หวังหรอกคุณ สมหวังนะครับ ไม่เสียสตางค์ ไม่ผิดกฎหมาย คนโสดก็หวังมีคู่ คนจีบก็หวังจะควง สาว ๆ ก็หวังจะสวย รักคุณก็หวังเกี่ยวดอง คนป่วยก็หวังทุเลา ตัวผมก็แอบหวังไว้ หวังเป็นทองแผ่นเดียวกับคุณ ครับสมหวังนะครับ” เพลงที่ 4......5......6.......7.......8.......9.......10.......20........30......50.....100...500....
คุยเฟื่องเรื่องเขียน
ภาพที่ 8
    ลองฝึกดูนะครับ สำนวน ภาษา จากบทเพลงเหล่านี้กลั่นออกมาจากจิต จากใจ ของครู นักคิด นักเขียนหลายท่าน เป็นบทกวี สั้น กระชับ ได้ใจความ หลากหลายอารมณ์ ดูการตั้งชื่อเรื่อง เปิดหัว เนื้อเรื่อง บทสรุป ที่คลุมถึงเฟรม ช็อต บีต องก์ ซีเควนซ์ สัดส่วน โครงเรื่อง และการเล่าเรื่องทั้งหมด ฝึกจนกาย จิต ความคิดสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวกัน
   
    หวังว่าบทความนี้จะทำให้มีนักเขียนใหม่เกิดขึ้นในวงการ รวมถึงนักอ่าน ตัวผมเองด้วย ที่จะเรียนรู้ศาสตร์ด้านนี้ มีแนวทางในการฝึกฝน แนะนำกัน จนกว่าจะเก่งไปด้วยกัน มีงานเขียนที่ออกมาเป็นประโยชน์ต่อชีวิต และมนุษย์ชาติ หรือประดับโลกวรรณกรรม มากกว่ากระดาษเปื้อนน้ำหมึก ถึงไม่มีรางวัลซีไรต์ แต่ขอให้ได้รับใช้มวลชน นี่แหละ! หน้าที่ของนักเขียนในดวงใจผม
   
      ถ้าเห็นว่าบทความเช่นนี้มีค่าพอ  บอกบรรณาธิการมา ผมอาจจะเอามายำแบบด้นกันสด ๆ ที่ภาษานักดนตรีเรียกว่า “อิมโพรไวซ์”ขึ้นมาได้อีกหลายตอน ตามความเหมาะสม และสมองที่มี
   
    “คุยเฟื่องเรื่องเขียน” ต้องขอขอบคุณนักอ่านทุกท่านครับ...สวัสดี

                        …………… จบ .............................
กรุณา ลงทะเบียน และ login ก่อนส่งความเห็นครับ
siamfishing.com © 2024