สยามฟิชชิ่ง
หน้าแรก|กระดาน|รีวิว|ประมูล|ตลาด|เปิดท้าย
login | สมัครสมาชิก | วิธีสมัครสมาชิก | ลืมชื่อ/รหัส | login ไม่ได้? | 3 พ.ค. 67
ป ล า ช่ อ น อ เ ม ซ อ น : Fishing Article
 ห้องบทความ/เทคนิค > บทความตกปลา
ความเห็น: 40 - [27 ต.ค. 53, 19:51] ดู: 15,683 - [3 พ.ค. 67, 13:38] โหวต: 6
ป ล า ช่ อ น อ เ ม ซ อ น
maltza (168 คะแนนโหวตจากผู้ชมกระทู้) offline
3 ส.ค. 53, 14:09
1
ป ล า ช่ อ น อ เ ม ซ อ น
ภาพที่ 1
ปลาอะราไพม่าหรือปลาช่อนอะเมซอน (สถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง)
เรียบเรียงโดย สุจิตรา จันทร์เมือง

          ปลาอะราไพม่าหรือ พิรารูดู Pirarucu (ชื่อพื้นเมืองของชาวบราซิล) และ PAICHE (ชื่อพื้นเมืองของชาวเปรู) ส่วนคนไทยรู้จักกันในนาม "ปลาช่อนอเมซอน" จัดเป็นปลาที่อยู่ในตระกูลเดียวกับ ปลามังกร หรือ ปลาอะโรวาน่า คือ Family Osteoglossidae มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Arapaima gigas

          ปลาช่อนอเมซอน จัดเป็นยักษ์ใหญ่ของสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำของโลกและสำหรับนักเลี้ยงปลาทุก คน มันถูกจัดเป็นปลาน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลกชนิดหนึ่ง เจริญเติบโตได้เร็วมาก มีความยาวได้ถึง 4 เมตร มีน้ำหนักถึง 400 กิโลกรัม ปลาช่อนอเมซอน เป็นปลาเนื้อดีกินอร่อยของชาวบ้านในประเทศ บราซิล เปรู และโคลัมเบีย

          ทั้ง นี้ ปลาช่อนอเมซอน เป็นปลาที่มีแรงเยอะ ว่ายน้ำและกระโดดเก่งมาก รอบตัวของมันปกคลุมด้วยเกล็ดสีเขียวเหลือบขนาดใหญ่ ท้องเป็นสีขาว โคนหางมีเกล็ดสีแดงกระจัดกระจายอยู่ทั่ว คนไทยส่วนใหญ่นิยมเรียกกันว่า "กุหลาบแดง"

          ในอเมริกาใต้ ปลาช่อนอเมซอน เป็นปลาที่นำมากินเป็นอาหาร ส่วนบ้านเราสั่งเข้ามาเลี้ยงเป็น ปลาประหลาดราคาแพง ต้องทำตู้ทำบ่อเลี้ยงกันราคานับแสนบาท ปลาช่อนอเมซอน ถูกจัดเป็นปลาที่อยู่ในกฏเกณฑ์ของการอนุรักษ์สัตว์ของโลกโดย IUCN (International Union for Conservation of Nature and Natural Resources) ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในประเทศอังกฤษ และได้มีการประชุมทางอนุรักษ์สัตว์น้ำชนิดต่าง ๆ ของโลกไม่ให้สูญพันธุ์ ถึงกับมีข้อตกลงห้ามสั่งเข้าหรือส่งออกปลาดังกล่าวได้โดยเสรี

          ส่วนประเทศที่สั่ง ปลาช่อนอเมซอน ที่ระบุชื่อไว้ก่อนกฏ หรือข้อตกลงใช้บังคับให้ตรวจนับจำนวนแน่นอน หรือส่งปลานั้นคืนประเทศต้นสังกัด เพื่อให้ประเทศที่เป็นถิ่นกำเนิดของสัตว์ชนิดนั้น พยายามเพาะพันธุ์และอนุรักษ์ไว้ให้ได้ ส่วนในประเทศไทยยังไม่ได้ประกาศใช้กฏนี้เป็นทางการ ดังนั้น ปัจจุบันจึงยังมีการสั่งปลาชนิดนี้เข้ามาขายกันอย่างเสรี จากสถิติมีผู้บันทึกไว้ว่า ในปี พ.ศ.2528 ที่ผ่านมา มีการขออนุญาตนำ ปลาช่อนอเมซอน เข้าไทยประมาณ 300 กว่าตัว



ลักษณะทั่วไปของ ปลาช่อนอเมซอน

          ด้วยสาเหตุที่ ปลาช่อนอเมซอน มีร่างกายขนาดใหญ่โต มันจึงเป็นปลาที่ดูสง่างามอย่างเห็นได้ชัดที่สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ ปลาช่อนอเมซอน จะใช้เวลาทั้งหมดไปกับการว่ายน้ำเล่นไปมารอบ ๆ ตู้ปลา โดยจะมีการว่ายน้ำคดเคี้ยวไปมาเหมือนงู ปลาช่อนอเมซอน จัดเป็นปลาที่น่าสนใจ ตามประวัติมีการขุดพบฟอสซิล (Fossil) ของปลาชนิดนี้ ทำให้สามารถคำนวณอายุของปลาชนิดนี้ได้ว่าได้กำเนิดมาในโลกนี้ เมื่อประมาณกว่า 100 ล้านปีมาแล้ว และยังคงรูปร่างทรงเดิม

          ปลาช่อนอเมซอน จึงจัดว่าเป็นปลาโบราณ มีเกล็ดใหญ่ ปากกว้าง มีฟันซึ่งแม้จะไม่ค่อยเจริญได้ดีแต่ก็สามารถไล่งับหรือฮุบปลากินเป็นอาหาร ได้ ลักษณะพิเศษของ ปลาช่อนอเมซอน คือ มีอวัยวะเป็นถุงลมอยู่ภายในช่องท้องคล้ายปอด เพราะมีเส้นเลือดฝอยกระจายกันอยู่ทั่วและสามารถเปลี่ยนออกซิเจนได้เช่นเดียว กับปอดมนุษย์เราด้วย

          สำหรับลักษณะที่เป็นความสวยเฉพาะตัวของ ปลาช่อนอเมซอน คือ รูปร่างที่มีขนาดใหญ่ มีสีดำเงาเป็นมัน ครีบบน ครีบล่างมีตำแหน่งค่อนไปทางหาง มีแถบสีแดง-ส้มตัดกับพื้นสีดำ หัวแข็งคล้ายกระดูก มีการว่ายน้ำที่ช้าทำให้ดูสง่างาม ปกติชอบว่ายอยู่ใกล้ผิวน้ำและจะต้องขึ้นมาฮุบอากาศทุก ๆ 5-20 นาทีขึ้นอยู่กับขนาดของมันด้วย ถ้าเป็นปลาขนาดเล็กก็จะขึ้นมาฮุบอากาศทุก ๆ 5 นาที แต่ถ้าเป็นขนาดใหญ่ก็จะขึ้นมาฮุบอากาศทุก 18-20 นาที ปลาช่อนอเมซอน เป็นปลาที่ชอบอาศัยในแหล่งน้ำตื้น ถึงแม้จะมีขนาดที่ใหญ่โต และว่ายน้ำช้า ๆ แต่มีความว่องไวมากในยามกินเหยื่อ เคยมีผู้พบเห็น ปลาช่อนอเมซอน ขนาด 2 เมตร ฮุบกินปลาเทพาขนาดคืบกว่าที่มาแย่งโฉบกินเหยื่อ พร้อมกันทีละ 2 ตัวในชั่วพริบตาเดียว



การเพาะเลี้ยง ปลาช่อนอเมซอน


          ปลาช่อนอเมซอน เป็นปลากินเนื้อที่เจริญเติบโตได้เร็วมาก เมื่อ ปลาช่อนอเมซอน มีอายุได้ประมาณ 4-5 ปี ก็จะถึงวัยสืบพันธุ์ การสังเกตเพศผู้เพศเมียของ ปลาช่อนอเมซอน ถ้าดูจากภายนอกจะดูยาก แต่สามารถดูในฤดูผสมพันธุ์คือช่วงเดือนธันวาคมถึงพฤษภาคม ปลาช่อนอเมซอน เพศเมียที่มีไข่บริเวณท้องจะขยายใหญ่ สามารถมองเห็นได้ชัดเจน ส่วนเพศผู้หัวและลำตัวจะมีสีเข้มและสีแดงอมส้มแถบโคนหาง

          ทั้งนี้ ปลาช่อนอเมซอน ตัวเมียจะวางไข่ในเดือนมกราคมถึงมีนาคม มันจะสร้างรังใต้น้ำลึกประมาณ 40-50 ซม. ตัวเมีย 1 ตัววางไข่ได้ประมาณ 100,000 ฟอง และจะใช้เวลาประมาณ 5 วันในการฟักออกเป็นตัว เมื่อฟักไข่แล้ว แม่ปลาก็จะดูแลตัวอ่อนไว้ในปาก ส่วนตัวผู้ก็จะช่วยกันดูแลและป้องกันอันตรายจนกว่าลูกปลาจะเจริญเติบโตและ ช่วยตัวเองได้



อาหารและการเลี้ยง ปลาช่อนอเมซอน

          ในธรรมชาติ ปลาช่อนอเมซอน จะอาศัยอยู่ในลุ่มน้ำอเมซอน มันจะกระโดดขึ้นมากินนกที่เกาะอยู่บนต้นไม้เตี้ย ๆ ในตู้ปลาอาหารหลักของปลาอะราไพม่าคือ ปลาสดโดยเฉพาะปลาเป็น ๆ เช่น ปลานิล, ปลากัด, ปลาทอง, ลูกกบ หรือไม่ก็เนื้อหมู, เนื้อไก่ เนื้อปลาก็ได้ สำหรับผู้เลี้ยงนิยมใช้ปลาทองที่พิการมีการซื้อขายกันในราคาถูก ในระยะแรกก็กินน้อย วันละ 3-5 ตัว ต่อมาเมื่อปลาโตขึ้นก็กินมากขึ้น

          จากความน่าสนใจของ ปลาช่อนอเมซอน ดังที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้มีผู้เลี้ยงปลาชนิดนี้กันมาก ราคาซื้อขายสำหรับปลาขนาด 5-6 นิ้ว ตกราคาตัวละไม่ต่ำกว่า 5,000 บาท ยิ่งเป็นปลาระดับความยาวเกิน 12 นิ้วขึ้นไป ราคาไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท ผู้เลี้ยงปลามักจะสร้างตู้กระจกขนาดใหญ่เพื่อใส่ ปลาช่อนอเมซอน อาจจะเลี้ยงเพียงตัวเดียวหรือจะเลี้ยงรวมกับปลาอะโรวาน่าก็ได้





          ปลาช่อนอเมซอน นิยมเลี้ยงไว้เป็นปลาสวยงามในบ้านเรามานานกว่าสิบปีแล้ว ที่ผ่านมาพบว่า ถึงแม้ ปลาช่อนอเมซอน จะเป็นปลาขนาดใหญ่ที่มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้ดี แต่ยังมีข้อด้อยบางประการของ ปลาช่อนอเมซอน ที่ควรจะต้องระวังก็คือ หากเลี้ยงในตู้กระจกหรือบ่อปูนควรมีระบบกรองน้ำที่ดีและระบบเพิ่มอากาศให้ เหมาะสมกับขนาดของจำนวนปลา หากน้ำเสียหรือขาดออกซิเจนเพียงระยะเวลาสั้น ๆ ก็จะทำให้ ปลาช่อนอเมซอน ตายได้ทันที

          ดังนั้น การเลี้ยง ปลาช่อนอเมซอน จึงควรเลี้ยงในที่กว้าง ให้อาหารในปริมาณที่พอเหมาะและควรให้อาหารที่สด ถ้าตู้ปลาเล็กเกินไปปลาจะแสดงออกโดยการว่ายแบบกระวนกระวาย ชนตู้ โดดออกมาหรือไม่ก็หงอยลง ๆ ซึมเศร้า ไม่กินอาหาร จนกระทั่งตายไปเฉย ๆ อย่างไรก็ตาม ปลาช่อนอเมซอน ขนาดใหญ่สามารถฝึกให้กินอาหารเม็ดได้ และหากเลี้ยงในบ่อดินขนาดใหญ่ ปลาช่อนอเมซอน ก็สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้เป็นอย่างดี สัตว์จำพวกกบ เขียด และปลาตัวเล็ก ๆ ที่อาศัยอยู่ในบ่อก็จะกลายเป็นอาหารของปลาชนิดนี้ไป ซึ่งจะขยันหากินทั้งเวลากลางวันและกลางคืน


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
สถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง กรมประมง
กรุณา ลงทะเบียน และ login ก่อนส่งความเห็นครับ
siamfishing.com © 2024