สยามฟิชชิ่ง
หน้าแรก|กระดาน|รีวิว|ประมูล|ตลาด|เปิดท้าย
login | สมัครสมาชิก | วิธีสมัครสมาชิก | ลืมชื่อ/รหัส | login ไม่ได้? | 4 พ.ค. 67
รำพึง...รำพัน...ถึง ปลาหมอไทย : Fishing Article
 ห้องบทความ/เทคนิค > บทความตกปลา
ความเห็น: 12 - [30 ก.ย. 54, 08:04] ดู: 7,222 - [2 พ.ค. 67, 18:54] โหวต: 10
รำพึง...รำพัน...ถึง ปลาหมอไทย
sing plasai offline
5 มิ.ย. 46, 18:39
1
                      รำพึง..รำพัน..ถึง..
                                          ปลาหมอไทย
                                                                      ในวันสิ่งแวดล้อมโลก
                                 
  ใคร…ที่เคยตกปลาด้วยคันไม้ไผ่สมัยเด็กๆคงพอจะจำกันได้ว่า ปลาครูที่ตกได้ในสมัยนั้น มักไม่พ้น” ปลาหมอไทย ” ซึ่งมีอยู่ชุกชุมทุกแหล่งน้ำ โดยเฉพาะในชนบทแถบภาคกลาง  เมื่อย่างเข้าสู่ฤดูทำนา ฟ้าฝนตกต้องตามฤดูกาล น้ำขังนา ต้นกล้าตั้งลำกลายเป็นต้นข้าวเขียวขจี ภายใต้ผืนน้ำในท้องนาปลาหมอไทยก็จะเจริญเติบโตควบคู่กันไปด้วย และจะเป็นชนิดปลาที่มีมากกว่าปลาชนิดอื่นๆ  นาแปลงไหนน้ำลึก เดินหย่อนเบ็ดลงไปในหว่างกอข้าวแล้วละก็รับรองไม่ผิดหวัง วัดกันเพลิน..เดี๋ยวตัว..เดี๋ยวตัว  ยิ่งเมื่อถึงหน้าข้าวออกรวง จะได้ยินเสียง  จ๋อม..จ๋อม..อยู่ทั่วไปในนาข้าว  ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าให้ฟังว่า “ ปลาหมอมันโดดกินข้าวรวง ” ก็เคยลงทุนถึงขนาดลงนอนเฝ้าดูจากบนคันนา ก็เห็นมันโดดขึ้นตามรวงข้าวจริงแต่ไม่แน่ใจว่ามันโดดกินข้าวรวงหรือแมลงที่มาเกาะรวงข้าวกันแน่ ก็เลยพิสูจน์ด้วยการเดินลุยลงไปในนา ตรงที่มันโดดก็พบว่าบริเวณปลายรวงข้าวที่โน้มลงใกล้น้ำมักมีปลายโกร๋นไม่ค่อยมีเมล็ดข้าวติดอยู่ แสดงว่าคนสมัยก่อนช่างสังเกตแล้วนำมาถ่ายทอดเล่าสู่ให้ลูกหลานฟัง
      เมื่อ…เอ่ยถึงการหย่อนเบ็ด ก็ต้องพูดถึงสิ่งที่คู่กันคือ..เหยื่อ..ซึ่งเหยื่อที่ใช้ตกปลาหมอไทยในสมัยก่อนก็หาเอาง่ายๆ ตามธรรมชาติที่มีอยู่รอบๆตัวตามแต่สถานะการณ์ ถ้าไม่นับเหยื่อไส้เดือน ที่เป็นเหยื่อครอบจักรวาลมาแต่โบราณแล้ว ก็มีกุ้งฝอยที่หาช้อนเอาได้ง่ายหรือไม่ก็หาขุดแมลงแกลบตามกองแกลบ  บางครั้งก็ไล่จับตั๊กแตน หรือแมงมุมตัวลายเทาดำ ตามชายคาบ้าน (บ้านชนบทสมัยก่อนมักมุงด้วยหลังคาจาก หุงหาด้วยเตาฟืน เจ้าแมงมุมพวกนี้ชอบมาชักใยตามชายคาโรงครัว จะสังเกตเห็นง่ายเพราะเขม่าไฟจะไปจับเส้นใย ก็เลยเห็นตัวได้ง่าย …เอ..มันจะเกี่ยวกันไหมเนี่ยะ..) ..แต่เหยื่อที่ปลาหมอไทยชอบมาก..ที่สุด.. จะเรียกว่า  เหยื่อยอดนิยม หรือเหยื่อหมาน หรือเหยื่อสูตรก็ได้ ก็คือ..ปูนาที่กำลังจะลอกคราบ หรือที่เรียกว่า..ปูสองกระดอง (ห้ามพิมพ์ตกหล่น)กับแมงมุมสีทองที่ชักใยอยู่ตามยอดกอข้าว  สำหรับปูนานั้นจะหาได้ง่ายในช่วงต้นฤดูทำนาที่ต้นข้าวยังเขียวอยู่หรือในช่วงทำนาตอนแรก  เวลาเดินไปตามคันนาสายตามักจะสอดส่ายหาแต่ปูนา ถ้าเจอปุ๊บ รีบไล่คว้ามาแหวกดูตรงระหว่าง..ขากับกระดอง ( ต้องพิมพ์ แยกไว้  เดี่ยวผิดความหมาย) ถ้าเห็นรอยเนื้อแยกขาวๆหรือมีกระดองอีกชั้นแสดง่าใช้ได้ ถ้าไม่ชำนาญก็ต้องใช้วิธีหักปลายขาดูให้แน่ใจว่ามีเนื้ออีกชั้นหนึ่ง ที่สังเกตคือจะมีน้ำนมขาวๆไหลออกมาให้เห็น  เอาเฉพาะเนื้อที่ขาแต่ละขามาใช้ได้คุ้มค่าที่สุด (ตัวปล่อยมันไป เดี๋ยวมันไปงอกใหม่ สงสาร)ส่วนแมงมุมสีทอง(ลายสลับดำ)มักจะมีในช่วงที่ต้นข้าวและรวงข้าวกำลังกลายเป็นสีทอง( เริ่มแก่) เวลาจะจับก็ต้องเดินลุยลงไปในนาข้าว แต่มีเทคนิคอยู่นิดตรงที่ควรเดินย้อนแสงอาทิตย์ โดยเฉพาะในตอนเย็นเพราะจะเห็นเส้นใยสะท้อนแสงแดด ทำให้เห็นตัวได้ง่าย  เจ้าแมงมุมชนิดนี้จะมีลายสีทองสลับดำ กลมกลืนกับต้นข้าวมาก ข้อควรระวังเป็นอย่างยิ่งก็คือ ในช่วงแดดเหลืองตอนเย็นๆ เจ้างูแมวเซา ซึ่งมีสีคล้ายต้นข้าวก็ชอบที่จะออกมานอนผึ่งแดดอยู่ตามยอดกอข้าวเช่นเดียวกันด้วย.
  ปลา..หมอไทย เป็นปลาที่เนื้อมีรสชาติดี แต่ต้องระวังก้างเป็นอย่างมากโดยเฉพาะเด็กๆ  ปลาหมอที่อยู่ในนาในช่วงที่ข้าวเริ่มจะแก่ ตัวจะอวบอ้วน ออกสีเหลืองๆตามไปด้วย  ปลาหน้านี้จะกินอร่อยมีมันมาก(ก็คงกินข้าวจนตัวเหลืองน่ะแหละ) ไม่ว่าจะนำไปทำกินแบบลูกทุ่งง่ายๆด้วยการเอาไปย่างทั้งตัวแล้วลอกเกร็ดจิ้มกับน้ำปลาพริกกินกับข้าวร้อนๆ  หรือนำมาล้างๆเทใส่หม้อ ใส่เกลือต้มเค็มทั้งเกล็ด เวลาจะกินก็ลอกเกล็ดเอาแต่เนื้อขาวๆคลุกข้าวกับน้ำพริกกะปิแซบๆ เท่านี้ก็อร่อยอย่าบอกใครแล้ว ..ซี้ด..นึกถึงแล้วน้ำลายไหล..  หรือจะให้หรูขึ้นหน่อยก็ต้องโน่น นำมาขอดเกล็ด ตัดครีบ ตัดหัว ตัดหางแล้วบั้งซักหน่อย นำลงคลุกกับกระเทียม เกลือ พริกไทยตำละเอียด เอาลงทอดไฟอ่อนๆ  อ้อ ในสมัยก่อนน้ำมันที่ใช้ทอดจะใช้น้ำมันหมูเจียว แล้วแยกกากหมูไว้ต่างหาก เมื่อทอดปลาจนเกือบเหลือง ก็เอากระเทียมที่สับไว้หยาบๆต่างหากใส่ลงไปพร้อมกับกากหมูเจียว พอกระเทียมเหลืองกรอบ ดำบ้างนิดๆได้ที่ก็ตักขึ้น  เชื่อไหมครับว่าบ้านไหนก็ตามถ้ามีเด็ก ไอ้ที่แย่งกันเจี๊ยว จ้าว กลับเป็นน้ำมันทอดปลาที่มีกากหมู กากกระเทียมเอาไปคลุกข้าวร้อนๆ เหยาะน้ำปลาอีกนิด ซัดกันพุงกลาง..เนื้อปลาไม่สน.. (ก็เข้าทาง..ผู้ใหญ่ ไปเท่านั้นเอง)  ถ้าวันไหน..หะรู…หะรา..มีลาภปากมากหน่อย ก็ได้กินแกงฉู่ฉี่ปลาหมอ ซึ่งแน่นอน ของโปรดของเด็กๆก็คือ น้ำแกงข้นๆคลุกข้าวราดน้ำปลาหน่อย (น้ำปลาอีกแล้ว…แทบทุกรายการ) ส่วนเนื้อปลา..เหมือนเดิมผู้ใหญ่เอาไป ถ้าโชคดียิ่งขึ้นไปอีก ก็อาจมีไข่เจียวทอดปนกากหมูแถมให้อีกอย่าง ..วันนั้น..จุก..
อ้อ..สำหรับรายการทอดกับแกงนี้ ควรใช้ปลาตัวโตหน่อยถึงจะดี  …ยิ่งนึกยิ่งหิวข้าว..
เอ…นี่เรา..รำพึงถึงปลาหมอ…หรือ..รำพันถึงเรื่องกินกันแน่หว่า… ชักไม่แน่ใจ…
      เมื่อ.. มาถึง ณ.จุดนี้ ผมก็ได้แต่ถามตัวเองว่า ปัจจุบัน ความอุดมสมบูรณ์ที่มีอยู่มันหายไปหรืออย่างไร  ลองๆคิดดูแล้วมันก็ไม่น่าจะใช่ เพราะเมื่อก่อนเราทำนากันปีละครั้ง คือมีแต่นาปี โดยอาศัยฟ้าฝนตามฤดูกาลเท่านั้น  แต่ปัจจุบันเราสามารถมีน้ำทำนาปรังกันได้ทั่วไป นั่นแสดงว่าเราน่าจะมีความสมบูรณ์ดีขึ้น แล้วบรรดาสัตว์น้ำและฝูงปลาที่เคยมีอยู่อย่างชุกชุมมันหายไปไหนหมด โดยเฉพาะปลาหมอไทยซึ่งแต่ก่อนจะพบได้ในผืนนาหน้าน้ำอยู่ทั่วไป หรือคราวใดที่ฝนตกใหญ่ในต้นฤดูก็สามารถที่จะพบเห็นปลาหมอไทยกระเสือกกระสนว่ายทวนน้ำขึ้นไปเพื่อที่จะไปหาแหล่งน้ำดำรงค์ชีวิต ขยายเผ่าพันธุ์ต่อไป  แต่ตอนนี้อย่าว่าแต่ตามท้องนาหรือตามบ่อนาเลย แม้แต่ตามแหล่งน้ำธรรมชาติใหญ่ๆก็ยังหาทำยายาก นี่ขนาดปลาหมอไทยที่จัดว่าเป็นปลาที่มีความอดทนสามรถอาศัยอยู่ได้ในแทบทุกสภาพน้ำก็ยังแทบเสื่อมสลาย หรือนี่จะเป็นลางบอกเหตุที่เกิดจากผลกระทบจากสิ่งแวดล้อม ท้องนาที่บรรดาสัตว์น้ำปลา ปูเคยอาศัยเจริญวัยนับวันจะเต็มไปด้วยยาฆ่าแมลง ในน้ำเองก็ปนเปื้อนไปด้วยสารเคมีต่างๆ น้ำเสียจากชุมชนและโรงงานอุตสาหกรรมรุกรามไปตามแหล่งน้ำธรรมชาติ ก่อให้เกิดผลกระทบแบบลูกโซ่ถึงกันไปหมด  เราอาจจะมีแหล่งน้ำที่สมบูรณ์แต่จะมีประโยชน์อะไรที่แหล่งน้ำมีแต่สิ่งปนเปื้อนไม่สามารถใช้เป็นที่ดำรงชีวิตของสัตว์น้ำต่อไปได้ สิ่งที่ตามมาก็คือการสูญเสียทรัพยากรสัตว์น้ำ  แล้วต่อจากนั้นเราก็จะเริ่มสูญเสียสมดุลย์ตามธรรมชาติ และเมื่อถึงตอนนั้นมันก็อาจจะสายเกินไปที่จะช่วยกันรักษาสภาพแวดล้อมให้กลับมาเหมือนเดิมได้อีกต่อไป  นั่นก็หมายถึงไม่มีคำว่าปลาหมอไทย  และอาหารรสอร่อยเช่นปลาหมอเผา,ต้มเค็ม,ทอดกระเทียมพริกไทยหรือแกงฉู่ฉี่  ให้ต้องมานั่งรำพึง รำพันถึง อีกต่อไป.

กรุณา ลงทะเบียน และ login ก่อนส่งความเห็นครับ
siamfishing.com © 2024